เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 53
มนุษย์รู้จักการใช้สมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืชมานานแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกมองข้าม ขาดการเผยแพร่ ประกอบกับสารเคมีทางการเกษตรในปัจจุบันหาได้ง่าย ใช้ได้ง่าย และเห็นผลรวดเร็วกว่า
แต่เมื่อมีการใช้ในระยะเวลานานๆ ก็จะเริ่มส่งผลเสียออกมาให้เห็น มีทั้งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ พืช รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย
จึงเป็นสาเหตุให้บรรดาเกษตรกรเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการปลูกพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ และหาวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะนำมาใช้ทดแทนสารเคมี
อาจารย์แสงเดือน อินชนบท สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆ ของสมุนไพรเพื่อให้มีการนำไปใช้ได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวว่า สำหรับผู้ที่กำลังใช้หรือต้องการใช้พืชสมุนไพร ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าการใช้พืชสมุนไพรเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชไม่ได้เป็นวิธีการสำเร็จรูปที่จะช่วยป้องกันหรือแก้ไขปัญหาของศัตรูพืชได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
เนื่องจากการใช้สมุนไพรในรูปแบบนี้แท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกลับไปหาวิธีการสร้างสมดุลธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชน้อยที่สุด แต่ถ้าจะให้ดีเราควรจะมีการจัดการและการป้องกันแมลงศัตรูพืชตั้งแต่เริ่มต้นที่ทำการเพาะปลูก
แต่หากเกิดปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชขึ้น การใช้สมุนไพรก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ปัญหาโรคและแมลงลดลงได้ แถมยังไม่เกิดสารพิษตกค้างที่สำคัญยังมีต้นทุนในการดำเนินงานน้อยกว่าสารเคมีอยู่มาก
สมุนไพรที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ :- หางไหลขาว (โล่ติ้น) หางไหลแดง (กะเพียด) ยาสูบ (ยาฉุน) เถาบอระเพ็ด สาบเสือ พริกไทย ข่าแก่ ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ตะไคร้แกง ดีปลี พริก โหระพา สะระแหน่ กระเทียม กระชาย กะเพรา ใบผกากรอง ใบดาวเรือง ใบมะเขือเทศ ใบคำแสด ใบน้อยหน่า ใบยอ ใบลูกสบู่ต้น ใบลูกเทียนหยด ใบมะระขี้นก เปลือกว่านหางจระเข้ ว่านน้ำ เมล็ดโพธิ์ เมล็ดแตงไทย เปลือกมะม่วงหิมพานต์ ดอกลำโพง ดอกเฟื่องฟ้าสด กลีบดอกชบา ลูกทุเรียนเทศ รากเจตมูลเพลิงแดง
สมุนไพรที่มีประสิทธิภาพป้องกัน กำจัดหนอนชนิดต่างๆ ได้แก่ :- สะเดา (ใบ+ผล) หางไหลขาว (โล่ติ้น) หางไหลแดง (กะเพียด) หนอนตายหยาก สาบเสือ ยาสูบ (ยาฉุน) ขมิ้นชัน ว่านน้ำ หัวกลอย เมล็ดละหุ่ง ใบและเมล็ดสบู่ต้น ดาวเรือง ฝักคูนแก่ ใบเลี่ยน ใบควินิน ลูกควินิน ใบมะเขือเทศ เถาบอระเพ็ด ใบลูกเทียนหยด เปลือกใบเข็มป่า เปลือกต้นจิกและจิกสวน ต้นส้มเช้า เมล็ดมันแกว ใบยอ ลูกเปลือกต้นมังตาน เถาวัลย์ยาง เครือบักแตก คอแลน มุยเลือด ส้มกบ ตีนตั่งน้อย ปลีขาว เกล็ดลิ้น ย่านสำเภา พ่วงพี เข็มขาว ข่าบ้าน บัวตอง สบู่ดำ แสยก พญาไร้ใบ ใบแก่-ผลยี่โถ
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะนำสมุนไพรแต่ละชนิดมาใช้ในการป้องกัน กำจัดหรือไล่แมลงศัตรูพืช ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีเสียก่อนว่าจะนำส่วนไหนมาใช้และใช้ในช่วงเวลาใดจึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันกำจัดแมลง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 15 กรกฎาคม 2553
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFpIVXdOekUxTURjMU13PT0=§ionid=TURNeE5RPT0=&day=TWpBeE1DMHdOeTB4TlE9PQ==