เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 53
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ผลการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าประสบผลเป็นที่น่าพอใจตามลำดับ เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ และนำมาต่อยอดขยายผลใช้มากขึ้น ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารชีวภาพ เป็นผลให้ลดใช้สารเคมีลง ซึ่งจากผลสำรวจวิจัยโดยสุ่มจากเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 4,400 ตัวอย่างครอบคลุม 76 จังหวัดเมื่อปี 2552 พบว่า จากเดิมเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี เฉลี่ยไร่ละ 57.88 กิโลกรัม แต่หลังใช้เทคโนโลยีชีภาพของกรมพัฒนาที่ดินแล้ว มีการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยไร่ละ43.36 กิโลกรัม หรือลดลงเฉลี่ยไร่ละ 14.53 กิโลกรัม คิดเป็น 25.10%
นายฉลองกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนแนวทางจากเกษตรเคมีไปสู่เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรผสมผสานเป็นเรื่องยากที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะต้องเปลี่ยนทัศนคติวิธีคิดของเกษตรกรไทยที่ติดยึดเกษตรเคมีอย่างเหนียวแน่นยาวนาน
"ต้องยอมรับว่าการใช้เกษตรเคมีสะดวกทุกอย่าง เกษตรกรซื้ออย่างเดียว แต่ต้นทุนสูงมาก ต่างจากเกษตรอินทรีย์ แม้ต้นทุนจะต่ำ ฟื้นฟูบำรุงดินดีและยั่งยืนจริง แต่ยุ่งยาก และใช้ความอดทนในการลงมือมาก จุดหักเหส่วนหนึ่งเกิดจากปุ๋ยเคมีและสารเคมีเกษตรมีราคาแพงมาก เกษตรกรเลยต้องหาทางออกด้วยเกษตรอินทรีย์แทน"
รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวว่า ในส่วนการวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์จากดิน ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในกระบวนการเกษตรอินทรีย์นั้น กรมพัฒนาที่ดินยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินกระจายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์สู่ เกษตรกรจำนวนมากภายใต้ผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.สูตรต่างๆ
นอกจากนั้น ยังเตรียมแผนการพัฒนาอีกขั้นคือการปรับปรุงพันธุ์จุลินทรีย์ให้มีความสามารถ มากขึ้นในการตรึงไนโตรเจนในอากาศ และช่วยสลายฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมในดิน เพื่อให้พืชสามารถนำมาใช้งานได้
"เป็นการยกระดับการพัฒนาจุลินทรีย์อีกขั้น จากเดิมที่ใช้จุลินทรีย์ในดิน แต่ที่จะทำคือปรับปรุงพันธุ์ให้เพิ่มขีดความสามารถมากขึ้น หากสำเร็จเท่ากับสร้างจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างโรงปุ๋ยขึ้นในดินโดยตรง พืชสามารถใช้ได้โดยตรงเลย ตอนนี้เท่าที่ทราบมีบางประเทศกำลังทดลองทำอยู่" นายฉลอง กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 16 กรกฎาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=219417