เมื่อวันที่ 18 มกราคม 53
อียูเพิ่มมาตรการสุ่มตรวจผักนำเข้าจากไทย 50% เริ่มบังคับใช้ 25 มกราคม ในกะหล่ำ-มะเขือ-ถั่วฝักยาว มกอช.เตือนผู้ประกอบการ รับซื้อผลผลิตจากแปลงจีเอพี เท่านั้น
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผอ.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาสหภาพยุโรป (อียู) ได้แจ้งเตือนการตรวจพบปัญหาสารตกค้างในสินค้าพืชผักที่นำเข้าจากประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง อียูจึงออกกฎระเบียบที่ 669/2009 กำหนดให้เพิ่มระดับความเข้มงวดในการควบคุมสินค้าอาหารและอาหารสัตว์นำเข้าบางประเภท ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 25 มกราคม ในสินค้าถั่วฝักยาว ผักตระกูลกะหล่ำ และตระกูลมะเขือที่ส่งออกจากไทยจะถูกกัก ณ ด่านนำเข้าของอียู เพื่อสุ่มตรวจสารกลุ่มออแกโนฟอสเฟต ในระดับ 50% จากเดิมที่สุ่มตรวจเพียง 10%
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยไม่เร่งแก้ไขปัญหาสารตกค้างในพืชผัก 3 ชนิดดังกล่าว ระยะยาวคาดน่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าพืชผักไปอียู เพราะสินค้าจะถูกกัก ณ ด่านนำเข้าจนกว่าจะได้รับผลการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) โดยด่านจะใช้เวลาตรวจสอบเอกสาร 2 วัน ก่อนส่งตัวอย่างสินค้าไปตรวจที่ห้องแล็บ ซึ่งค่าใช้จ่ายของการตรวจสอบจะเป็นภาระของผู้นำเข้า ทั้งยังต้องใช้แบบฟอร์มการนำเข้าตามที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบด้วย ถ้าสินค้าไม่มีปัญหาอียูจึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้
ผอ.มกอช.กล่าวอีกว่า สหภาพยุโรปจะทำการทบทวนมาตรการนี้ทุก 4 เดือน ขึ้นอยู่กับรายงานผลการสุ่มตรวจคุณภาพสินค้าผักทั้ง 3 ชนิด โดยอาจมีการเพิ่มหรือลดความเข้มงวดของมาตรการได้ เบื้องต้นผู้ประกอบการไทยควรเข้มงวดในการคัดเลือกผลผลิตจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานจีเอพี โรงคัดบรรจุที่ได้รับมาตรฐานจีเอ็มพี และไม่ควรรับซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 17 มกราคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20100117/44982/%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%