เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 53
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมากกับชาวนาในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังและจัดเป็นพื้นที่วิกฤตทั้งในเรื่องน้ำ โรคและแมลงศัตรูข้าว โดยเฉพาะการระบาดรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอเพิ่มเติมในแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการปฏิรูประบบการปลูกข้าวใหม่ ใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 22 จังหวัด พื้นที่รวม 9,532,672 ไร่ ซึ่งมีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง และปลูกข้าวไม่พร้อมกัน ไม่มีการพักแปลงนาหรือว่างเว้นจากการปลูกข้าว ทำให้ดินมีสภาพเสื่อมโทรม เกิดการระบาดของข้าววัชพืช และปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือการขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าว
การจัดระบบปลูกข้าวใหม่ ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ตามโครงการส่งน้ำ 48 โครงการ แต่ละโครงการ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะร่วมกันพิจารณาเพื่อเลือกระบบที่เหมาะสม ซึ่งมีให้เลือก 4 ระบบ โดยภาครัฐจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชหลังนาหรือพืชปุ๋ยสด จัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ จัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตพืชหลังนา รวมทั้งการผ่อนปรนดอกเบี้ยและเลื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)
ทั้งนี้ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ได้ร่วมกัน วางระบบการปลูกข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการในชุมชนอย่างแท้จริง โดยแผนการปลูกข้าวระบบใหม่นี้จะดำเนินการในปี 2553 -2556 รวม 4 ปี หวังช่วยลดต้นทุนการผลิตทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ชาวนามีรายได้สุทธิต่อไร่มากขึ้น ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 16 กรกฎาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=219415