เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 53
การนำเนื้อปลา "ปักเป้า" หรือที่บางแห่งเรียกว่าปลาไก่ มาขึ้นร้านเป็นเมนูเพื่อรอให้กลุ่มลูกค้ามา "เปิบ" มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งๆที่เนื้อปลาชนิดนี้หากกินเข้าไปแล้วจะส่งผลต่อร่างกายและอาจถึงตายก็ตาม ทั้งๆที่รู้แต่เพราะต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ประกอบการบางรายแอบนำปลาชนิดนี้มาใช้แทนเนื้อปลาแล่สำเร็จชนิดต่างๆ อาทิ ปลากะพงขาว ปลาเก๋า และปลาอินทรี ที่มีราคาสูง
ฉะนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น ผศ.ดร.ชูตา บุญภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการพัฒนาวิธีตรวจสอบเนื้อปลาปักเป้าอย่างง่ายและได้ผลเร็ว โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัย
ผศ.ดร.ชูตา เปิดเผยว่า ปลาปักเป้าพบได้ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม แต่ที่นิยมนำมาปลอมปนผสมในอาหารมักเป็นปลาปักเป้าทะเล ซึ่งนอกจากจะจับจากน่านน้ำไทยแล้ว ยังมีการลักลอบนำเข้าปีละหลายพันตัน ทั้งนี้เนื้อปลาดังกล่าวจะมีสารพิษ "เตโตรโดท็อกซิน" ซึ่งความร้อนในอุณหภูมิ 170 องศาเซลเซียส ก็ยังไม่สามารถทำลายสารพิษ โดยหลังรับประทาน 10-45 นาที หรือนานถึง 4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับ ผู้บริโภคจะมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงห้ามไม่ให้นำปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาดังกล่าวผสมผลิต ห้ามนำเข้าจำหน่าย และส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีการฝ่าฝืนลักลอบจำหน่ายทั่วไป ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องหาวิธีการที่ง่าย สะดวก สามารถบ่งชี้ชนิดและการปลอมปนของเนื้อปลาปักเป้าในวัตถุดิบอาหาร
สำหรับแนวทางการพัฒนาวิธีตรวจสอบนั้น ผศ.ดร.ชูตา บอกว่า ทีมงานได้นำเนื้อปลาปักเป้าชนิดหลังด่าง หลังเรียบ หลังน้ำตาล และหลังเขียว มาทำการทดสอบทั้งในรูปเนื้อปลาที่แล่สำเร็จ แปรรูป และเนื้อที่ผ่านการต้มสุก โดยใช้เทคนิคทาง "ชีวโมเลกุล" (เทคนิค multiplex PCR) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาสำเร็จในขั้นตอนเดียวเพียง 1 ครั้ง
ผลที่ได้พบว่าเทคนิคดังกล่าวใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง สามารถบอกได้ว่ามีการปลอมปนของเนื้อปลาปักเป้าหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถระบุชนิดของปลา
เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ทีมวิจัยได้นำไปทำการทดสอบโดยแบ่งตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งผู้ควบคุมการทดสอบจะไม่รู้ว่ามีการปลอมปนอยู่ในตัวอย่างไหนบ้าง ในกลุ่มแรก มีลูกชิ้นหรือปลาเส้น เช่น ปลากะพงขาว ปลาหางเหลือง ปลาอินทรี ปลากราย ปลาดาบลาวยาว ปลาไน ปลาสวาย ปลาเก๋า ปลานวลจันทร์เทศ ปลาจีน ปลาเนื้ออ่อน ปลาแซลมอน ปลาสลาด ปลายี่สกเทศ ปลากุเรา ปลาทรายแดง ลูกชิ้นทำมาจากเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู เป็นต้น พบว่าไม่เกิดผลบวกกับตัวอย่างดังกล่าวแต่อย่างใด
และกลุ่มที่สอง ทีมงานได้นำเนื้อปลาปักเป้ามาใส่ผสมในปริมาณเพียง 1% ในเนื้อปลากลุ่มตัวอย่าง กับเนื้อไก่เสร็จแล้วทีมวิจัยนำมาทดสอบความไว ผลที่ได้พบว่า เทคนิคชีวโมเลกุล สามารถตรวจพบการปลอมปนได้ชัดเจนทุกตัวอย่าง
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามราย ละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0–3810–3089 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 19 กรกฎาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/97208