ทำหมู่บ้านนำร่อง ลดต้นทุนผลิตสินค้าเกษตร
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 53
ทำหมู่บ้านนำร่อง ลดต้นทุนผลิตสินค้าเกษตร
อุปสรรคในการทำการเกษตรของพี่น้องเกษตรประเทศไทยที่ผ่านมา นอกจากจะต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ปัญหาในด้านต้นทุนการผลิตที่ดีดตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจก็นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดทำโครงการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าเกษตรของไทยส่วนใหญ่ส่งออกไปต่างประเทศ ประกอบกับปัจจุบันมีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ทำให้ภาคเกษตรต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ประเด็นสำคัญ คือ ต้นทุนการผลิตต้องถูกกว่าประเทศคู่แข่งในระดับคุณภาพเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ จึงจัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิต ในลักษณะนำร่อง 3 สินค้าก่อน คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ มันสำปะหลัง โดยมอบให้รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ หัวหน้ากลุ่มภารกิจที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ติดตามกำกับดูแลและมอบให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำคำของบประมาณ เพื่อเร่งรัดในการดำเนินการตามภารกิจและกิจกรรมโครงการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในกิจกรรมการผลิตสินค้าเกษตร เกษตรกรยังนำเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมโดยผ่านการวิจัยของหน่วยงานภาครัฐไปใช้ไม่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านเงินทุน และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังไปสู่เกษตรกรไม่ทั่วถึง และข้อจำกัดด้านอื่น ๆ จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และแข่งขันกับต่างประเทศได้ยาก เหตุนี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงพยายามผลักดันให้มาตรการลดต้นทุนดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยมีวิธีการดำเนินงานดังนี้ คือ 1.การทำหมู่บ้านลดต้นทุนตัวอย่าง 2. การทำแปลงเรียนรู้ ตั้งแต่การเตรียมดินเพื่อปลูก การใช้เมล็ดพันธุ์ และการใส่ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดินในอัตราที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม 3.ฝึกอบรม-ถ่ายทอดความรู้ นักวิชาการพบเกษตรกรประชาสัมพันธ์เชิงรุก 4.จัดงาน “ฟิลด์เดย์” เพื่อกระจายผลสู่เกษตรกร และ 5.การติดตาม วิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงาน
ในเบื้องต้น หากดำเนินการตามมาตรการนี้กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายเพื่อ ลดต้นทุนให้แก่สินค้าเป็นรายชนิด ดังนี้ ข้าว จากต้นทุนการผลิตเดิม 8.71 เป็น 7.71 บาท/กิโลกรัม (ลดลง 1 บาท) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากต้นทุนการผลิตเดิม 5.46 เป็น 5.00 บาท/กิโลกรัม (ลดลง 0.46 บาท) มันสำปะหลัง จากต้นทุนการผลิตเดิม 1.58 เป็น 1.37 บาท/กิโลกรัม (ลดลง 0.21 บาท) ส่วนสินค้าอื่น ๆ จะมีการผลักดันให้เกิดโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อลดต้นทุน ทั้งในรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นมาตรการ แผนงาน หรือเป็นกิจกรรมที่อยู่ในงานปกติของหน่วยงาน
สำหรับงบประมาณดำเนินการนั้น คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ปี 2553-2555 โดยใช้งบประมาณรวม 3 ปี จำนวนเงินทั้งสิ้น 128.34 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2553 จำนวน 20.97 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 82.09 ล้านบาท (ขอสนับสนุนเพิ่ม 75.99 ล้านบาท) และ ปี 2555 จำนวน 25.27 ล้านบาท (ขอสนับสนุนเพิ่ม 19.17 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีงบประมาณที่จะสามารถ เริ่มดำเนินการได้ทันทีจำนวน 33.18 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่มีอยู่แล้วโดยเป็นงบกองทุนอาฟต้า ( AFTA) 29.82 ล้านบาท และ งบ คชก. 3.36 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ต้องขอสนับสนุนเพิ่มเติมอีกจำนวน 95.16 ล้านบาท โดยไม่รวมเงินกู้ยืม 52.50 ล้านบาท
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะมีการขับเคลื่อนในการจัดมาตรการลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิต ทั้งในส่วนของเครื่องจักรกล และปุ๋ย เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และนำไปสู่การลดต้นทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 กรกฎาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=78869
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง