เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 53
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เพื่อตอบสนองนโยบายตามยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลกปี 2554-2559 โดยตั้งเป้าการส่งออกให้ได้ 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2559 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดทำกลยุทธ์ส่งเสริมการผลิตกล้วยไม้คุณภาพ โดยให้การรับรองสวนตามมาตรฐาน GAP เนื่องจากปัจจุบันไทยต้องเผชิญกับการสกัดกั้นทางการค้าในด้านมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การกักกันพืชเพื่อตรวจสอบโรค-แมลง บางประเทศอาจให้รมสารเคมีป้องกันกำจัดอีกครั้ง หรือให้เผาทำลายทั้ง shipment ขณะที่บางประเทศเรียกร้องผู้ส่งออกให้แสดงหลักฐานการรับรอ GAP หรือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกล้วยไม้ เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่าสินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐาน จึงจำเป็นที่ภาคการผลิตกล้วยไม้ไทยต้องเร่งจัดทำมาตรฐานการผลิตให้ได้ระดับสากลและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศมาตรฐานกล้วยไม้ขึ้นมาใหม่ 3 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกล้วยไม้ตัดดอก มาตรฐานช่อดอกกล้วยไม้ และมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุกล้วยไม้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ระบบการผลิตกล้วยไม้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด สอดคล้องตามนโยบายของภาครัฐที่จะเร่งผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ไทยให้ได้ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2559 จาก 2,739 ล้านบาทในปี 2552 หรือ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 19.24 ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ปัจจุบันมีสวนเกษตรกรที่ได้รับรองตามมาตรฐาน GAP แล้ว 214 ราย โดยขั้นตอนการตรวจรับรอง GAP กล้วยไม้นั้น มีหลักเกณฑ์การตรวจสอบจากประเด็นต่างๆ อาทิ ความสะอาดของแหล่งน้ำ โรงเรือนและวัสดุปลูก มีการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรตามคำแนะนำหรือไม่ การจัดการต้องมีการเตรียมวัสดุปลูก ต้นพันธุ์ตรงตามพันธุ์ การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การป้องกันศัตรูพืชที่สำคัญ การจัดการสุขอนามัยในแปลงปลอดจากศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวต้องมีการตัดในระยะที่เหมาะสม คัดแยกตามมาตรฐานการเก็บรักษาและการขนย้ายผลิตผลในแปลงไม่ให้ช้ำและเสียหาย ต้องมีการบันทึกข้อมูล โดยเกษตรกรสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ด้วยการสมัครได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ๆผลิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 19 กรกฎาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=219819