เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 53
นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่ 36 จังหวัด ครอบคลุมเนื้อที่ 406,962 ไร่ สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด คือ จ.นครราชสีมา รองลงมา ได้แก่ จ.กาญจนบุรี พิษณุโลก กาฬสินธุ์ และยโสธร ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และต้องลดพื้นที่ระบาดลงโดยเร็ว ขณะเดียวกันยังต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับความเสียหายด้วย
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้นำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์แตนเบียน Anagyrus lopezi จากสาธารณรัฐเบนิน จำนวน 500 ตัว เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนที่ห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พร้อมศึกษาทดสอบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการกักกัน แล้วนำแตนเบียนที่เพาะได้ไปทดลองปล่อยในแปลงปลูกมันสำปะหลังภายในศูนย์วิจัย พืชไร่ จ.ระยอง และพื้นที่ของสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย (ห้วยบง) จ.นครราชสีมา ซึ่งมีการระบาดของเพลี้ยแป้ง เพื่อศึกษาความสามารถในการอยู่รอดของแตนเบียนและศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เบื้องต้นพบว่า แตนเบียน A. lopezi ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสภาพแวดล้อม เนื่องจากแตนเบียนจะทำลายเฉพาะเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ซึ่งเป็นชนิดที่ระบาดทำลายมันสำปะหลังอยู่ในขณะนี้ นับว่ามีความปลอดภัยสูงมาก
ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เร่งจัดฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงและปล่อยแตนเบียน A. lopezi ให้แก่นักวิชาการของกรม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ผู้นำเกษตรกร และผู้แทนโรงงานแป้งมันและอุตสาหกรรมแป้ง เพื่อช่วยกันผลิตแตนเบียนและทยอยปล่อยในพื้นที่ปลูกเพื่อควบคุมเพลี้ยแป้ง มันสำปะหลัง คาดว่าจะสามารถผลิตได้เดือนละ 5,000 - 50,000 คู่ รวมกับความสามารถของแตนเบียนในการเพิ่มปริมาณได้ในธรรมชาติอย่างน้อย 10 เท่าในทุก ๆ เดือน คาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2553 นี้ จะสามารถผลิตและปล่อยแตนเบียนครอบคลุมพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า 1.18 ล้านไร่
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 21 กรกฎาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=220104