อุปกรณ์ผสมเทียมแพะ ถูกกว่านำเข้ากว่า 50 เท่า
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 53
อุปกรณ์ผสมเทียมแพะ ถูกกว่านำเข้ากว่า 50 เท่า
การผสมพันธุ์แพะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการผสมพันธุ์อย่างถูกวิธีจะทำให้มีอัตราการผสมพันธุ์ติดสูงและได้จำนวนลูกมากเมื่อคลอด การตัดสินใจว่าจะให้แพะเริ่มผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อใด ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแพะ โดยดูน้ำหนักและอายุเป็นเกณฑ์ แพะพื้นเมืองควรมีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม ถ้ามีความสมบูรณ์ดี อาจมีอายุไม่ถึง 1 ปีเมื่อผสมพันธุ์แล้ว จะตั้งท้องประมาณ 150 วัน หรือ 5 เดือน ให้หลีกเลี่ยงการผสมเลือดชิดระหว่างลูกพี่ลูกน้อง พี่กับน้อง หรือพ่อแม่กับลูก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เลี้ยงแพะ ยังนิยมใช้แพะตัวผู้เป็นพ่อพันธุ์คุมฝูง และใช้ผสมพันธุ์โดยไม่เปลี่ยนพ่อพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาเลือดชิด ลูกแพะรุ่นหลังที่ได้ตัวจะเล็กลง ไม่สมบูรณ์แข็งแรง การผสมเทียมแพะจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาเลือดชิดดังกล่าว
คณะนักวิจัยโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ อาจารย์ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์การผสมเทียมแพะขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเน้นใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ คือ ใช้ท่อพีวีซีที่เป็นข้อต่อ 3 ทางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว และท่อมีความยาว 15 เซนติเมตร โดยท่อข้างหนึ่งต่อเข้ากับเกลียวก๊อกน้ำ สำหรับนำน้ำอุ่นและให้อากาศผ่านเข้าไปในท่อน้ำเชื้ออสุจิของแพะตัวผู้เพื่อ รีดน้ำเชื้อ ซึ่งเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ส่วนด้านในท่อพีวีซี ใช้ยางพาราซับไว้รอบด้านเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น สามารถใช้งานได้สะดวก มีประสิทธิภาพเทียบเท่าจากอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีต้นทุนการผลิต ชิ้นละ 142 บาท ในขณะที่จากต่างประเทศมีราคาชิ้นละ 7,500 บาท อุปกรณ์ผสมเทียมที่คณะนักวิจัยประดิษฐ์ขึ้นนี้ เกษตรกรสามารถนำไปฝึกรีดน้ำเชื้อแพะเนื้อ แพะนม รวมทั้งแกะ ได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นยังเก็บน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่ดีไว้ผสมพันธุ์ครั้งต่อไปได้โดย สามารถนำไปเจือจางเพื่อผสมกับแม่แพะได้จำนวนมากขึ้นด้วย
สำหรับการเจือจางน้ำเชื้อพ่อพันธุ์แพะนั้น คณะนักวิจัยได้คิดค้น วิธีเจือจางน้ำเชื้อแพะตัวผู้ให้มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม โดยการเจือจางในสารละลายทรีส และผสมกับสารสกัดจากว่านหางจระเข้ สามารถนำไปผสมเทียมให้กับแพะตัวเมีย ได้มากกว่า 1 ตัวทำให้จำนวนแพะตัวเมียได้รับการผสมมากขึ้น ปกติการรีดน้ำเชื้อแพะตัวผู้จะได้ครั้งละ 1 ซีซีต่อตัว และนำไปผสมเทียมกับแพะตัวเมียได้ 1 ตัวเท่านั้น แต่เมื่อนำน้ำเชื้อที่รีดได้นั้นไปเจือจางในสารละลายเจือจางในอัตราส่วนสาร ละลายเจือจาง 2 ส่วนต่อน้ำเชื้อแพะ 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน แล้วนำสารสกัดจากว่านหางจระเข้ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ผสมในน้ำเชื้อแพะที่เจือจางแล้วและคนให้เข้ากัน สามารถนำไปผสมเทียมให้แพะตัวเมียได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 ตัว ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยให้การเคลื่อนที่ของตัวอสุจิกระฉับกระเฉงมากขึ้น จากปกติเคลื่อนที่ได้ 50-70 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อการผสมพันธุ์ ที่สำคัญจะได้ปริมาณน้ำเชื้อเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว
ส่วนน้ำเชื้อแพะที่ผ่านการเจือจางและผสมสารสกัดจากว่านหางจระเข้แล้ว สามารถเก็บในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 5 วัน จากเดิมที่เก็บไว้ได้เพียง 3 วันเท่านั้น หากต้องการเก็บรักษาน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่ดีสำหรับผสมเทียมในครั้งต่อ ๆ ไปสามารถเก็บโดยการแช่แข็งได้นานเป็นปี
เกษตรกรรายใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ โทร. 08-9524-5900 หรือ อีเมล
[email protected]
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=43276
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง