2 ฝรั่งพันธุ์ใหม่ รับประทานผลสด
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 53
2 ฝรั่งพันธุ์ใหม่ รับประทานผลสด
อาจารย์จากคณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ศึกษาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ฝรั่งจนได้ฝรั่งพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ ที่มีความแตกต่างจากฝรั่งพันธุ์เดิมที่มีอยู่ในประเทศไทย และมีคุณสมบัติเด่นที่สามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มรายได้ในตลาดขายผลฝรั่งสด ด้วยรสชาติที่อร่อย หวาน กรอบ ไม่เหมือนใคร และสายพันธุ์ที่เหมาะกับการค้าต้นตอ ด้วยคุณสมบัติเด่นในการทนต่อไส้เดือนฝอยได้ดี
รศ.ดร.อุณารุจ บุญประกอบ อาจารย์ ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ศึกษาวิจัยโครงการปรับปรุงพันธุ์ฝรั่งมากว่า 10 ปี โดยมีนักปรับปรุงพันธุ์ร่วมในโครงการวิจัย คือ ดร.เกรียงศักดิ์ ไทยพงษ์ ซึ่งได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมฝรั่งจากในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 พันธุ์ โดยได้ผสมพันธุ์และปลูกทดสอบลูกผสมกว่า 20,000 ต้น เพื่อทำการคัดเลือกหาพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ และได้คัดเลือกลูกผสมขั้นสูงสำหรับเป็นพันธุ์รับประทานผลสดและแปรรูปแล้ว 26 รหัส และอีก 3 รหัส สำหรับใช้เป็นต้นตอ
ปัจจุบันดำเนินการมาถึงขั้นทดสอบการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสามารถคัดเลือกฝรั่งพันธุ์ใหม่ได้ 2 รหัส ได้แก่ HORT-D1 และ HORT-R1 ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเหมาะ ที่จะผลิตเป็นพันธุ์การค้าทั้งการส่งขายภายในและต่างประเทศฝรั่งพันธุ์ใหม่ HORT-D1 ได้จากการรวบรวมเมล็ดผสมเปิดของฝรั่งพันธุ์แป้นยักษ์สีทองเมื่อปี 2542 และ ระหว่างปี 2545-2547 ได้ทำการคัดเลือกได้ 1 ต้น จากจำนวน 120 ต้น โดยพิจารณาจากการเจริญเติบโต ลักษณะทรงผล รสชาติ ความหวาน และได้ขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอนเพื่อ ทำการทดสอบคุณภาพด้านอื่น ๆ และวิเคราะห์คุณภาพผลทางเคมี เช่น ปริมาณกรด คุณค่าทางโภชนาการ เช่น วิตามินซี สารประกอบฟีโนลิค ตลอดจนประเมินความทนทานต่อโรคผลเน่า พบว่าฝรั่งพันธุ์ HORT-D1 มีการเจริญเติบโตที่ดี ทรงต้นเป็นพุ่มแจ้ รสชาติหวาน 8-10 บริกซ์ เนื้อแน่น ละเอียด กรอบ รสชาติอร่อยมาก และมีวิตามินซีสูง ซึ่งฝรั่งสายพันธุ์ HORT-D1 นี้ เหมาะสำหรับเป็นพันธุ์รับประทานผลสด
ส่วนฝรั่งสายพันธุ์ HORT-R1 เป็นฝรั่งต้นตอ ที่มีคุณสมบัติเด่นในการทนทานต่อไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่ง HORT-R1 ได้ทำการคัดเลือกเมื่อปี 2542 โดย รวบรวมเมล็ดพันธุ์ฝรั่งจากเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2545 ได้ทำการประเมินการเจริญเติบโตและคุณภาพผล โดยสามารถคัดเลือกได้ 1 ต้น ซึ่งพบว่ามีการเจริญเติบโตดี แต่ผลมีขนาดเล็กและรสชาติไม่อร่อย จึงไม่เหมาะในการรับประทานผลสด ในระหว่างปี 2545-2547 มีการประเมินความทนทานดินเค็ม และปี 2547 จนถึงปัจจุบันได้ประเมินความทนทานไส้ เดือนฝอยรากปม โดย รศ.สมชาย สุขะกูล จากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มก. ได้ทำการทดสอบพบว่า มีความทนทานต่อดินเค็มสูงและทนทานต่อไส้เดือนฝอยรากปมได้ดี (ทั้งในสภาพโรงเรือนทดลองและพื้นที่แพร่ระบาด) จึงเหมาะที่จะใช้เป็นพันธุ์ต้นตอมากกว่ารับประทานผลสด
สำหรับฝรั่งพันธุ์ HORT-D1, HORT-R1 และลูกผสมขั้นสูงอื่น ๆ จะทำการทดสอบศักยภาพการผลิตเชิงพาณิชย์ในเขตพื้นที่การผลิตฝรั่งหลัก ๆ ของประเทศ ทดสอบความเข้ากันได้กับพันธุ์ HORT-R1 และใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อสร้างฝรั่งพันธุ์ใหม่ต่อไป สำหรับฝรั่งพันธุ์ HORT-R1 อยู่ระหว่างทำการทดสอบความเข้ากันได้กับพันธุ์ HORT-D1 และพันธุ์การค้าอื่น ๆ และได้ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อสร้างฝรั่งต้นตอที่ทนทานไส้เดือนฝอยรากปมมากยิ่งขึ้น
สำหรับเกษตรกรที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.อุณารุจ บุญประกอบ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 กรกฎาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=79373
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง