เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 53
นางสำลี บุญญาวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากช่วงปี 2551-2553 ที่ผ่านมา นับเป็นปีทองของชาวนาที่ขายข้าวเปลือกได้ในราคาสูง ทำให้ชาวนาเพิ่มการผลิตมากขึ้นทั้งด้านพื้นที่ปลูก จำนวนครั้งของการปลูก เป็นเหตุให้ไม่มีการพักดินเพื่อฟื้นฟูหรือบำรุงดิน ทำให้มีแมลงศัตรูข้าว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ขณะที่การใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง ผิดชนิด ผิดวิธี และมากเกินความจำเป็น ทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติและแมลงที่มีประโยชน์ อาทิ อาทิ แมลงภู่ ผึ้ง แมลงปอ แมงมุม ต่อแตน และสัตว์น้ำในนาข้าว เช่น กบ เขียด ปลา มีจำนวนลดลงอย่างมากจึงทำให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืช ทำความเสียหายให้กับผลผลิตข้าวอย่างมากมาย
กรมการข้าวจึงมีแนวคิดจะเพิ่มปริมาณแมลงศัตรูธรรมชาติและแมลงที่เป็นประโยชน์ คืนสู่นาข้าวอีกครั้ง โดยการจัดระบบนิเวศในนาข้าว ซึ่งเป็นแนวความคิดใหม่เพื่อสร้างความสมดุลทางธรรมชาติกลับคืนสู่นาข้าว ด้วยการปลูกพืชอื่นๆ หลากหลายชนิดรอบๆ แปลงนาข้าว เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้แมลงศัตรูธรรมชาติหรือแมลงที่มีประโยชน์ เปรียบเสมือนการสร้างกองทหารไว้คอยควบคุมและทำลายแมลงศัตรูข้าวที่เข้ามาในนาข้าว ลดความเสียหายจากการทำลายของแมลงศัตรูข้าว และลดการใช้สารฆ่าแมลงในนาข้าว เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับระบบนิเวศในนาข้าวอย่างยั่งยืน และเพิ่มรายได้ให้ชาวนาอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ได้มีเกษตรกรในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้เคยดำเนินการแล้วโดยในส่วนของสาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่า นาข้าวที่ปลูกไม้ดอก งา และข้าวฟ่าง บนคันนามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลน้อยกว่า และมีแมลงศัตรูธรรมชาติมากกว่านาข้าวของเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกอะไรบนคันนา อีกทั้งเกษตรกรยังต้องพ่นสารฆ่าแมลงด้วย ดังนั้นเชื่อว่าการจัดระบบนิเวศในนาข้าวจะแนวทางการปลูกข้าวที่ประสบความสำเร็จในการลดความรุนแรงของการระบาดของแมลงศัตรูข้าวได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ในการคิดหาพืชที่สามารถปลูกร่วมในนาข้าวและสามารถสร้างรายได้โดยไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 28 กรกฎาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=221115