เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 53
กล้วยไข่ เป็นพืชที่สามารถปลูกได้แทบทุกภาคของประเทศ ปัจจุบันไทยเราส่งออกเป็นสินค้าในระดับมาตรฐานความปลอดภัย จำหน่ายในหลายประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ จีน และ ฮ่องกง
ศ.ดร.เบญจมาศ ศิลาย้อย อาจารย์ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไข่ ด้วยการใช้วิธีฉายรังสีและคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุด อาทิ กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 ซึ่งมีลักษณะของผลสั้นลง ผลป้อม ปลายทู่ แต่ความยาวก้านผลยาวมากกว่าเดิม ทำให้การเรียงของผลในหวีไม่เกยกัน
จุดเด่นของกล้วยไข่สายพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 คือ มีเครือที่เรียงกันสวย เมื่อตัดส่งออกไปจำหน่ายได้ทุกหวี ผลผลิตต่อหวีต่อเครือมากกว่าเดิม คุณภาพของผลมีสีที่นวลสวย เนื้อกล้วย เนียนคล้ายกล้วยหอม และ ไม่มีแกนกลาง รสชาติอร่อย ความหวานอยู่ที่ 22-23 บริกซ์ ลักษณะผลของกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 จะไม่โตกว่ากล้วยไข่ปกติมากนัก แต่ถ้าปลูกในพื้นที่มีดินดี บำรุงรักษาดีจะได้ผลผลิตลูกใหญ่เทียบเท่ากับกล้วยหอม โดยให้ช่วงเก็บเกี่ยวหลังปลูกประมาณ 8-9 เดือน
นายกิตติพงศ์ ปะสิ่งชอบ อายุ 45 ปี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ย่าน ต.กองดิน อ.แกลง จ.ระยอง สนใจกล้วยไข่ สายพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 จึงหันมาเป็นชาวสวนกล้วย เล่าว่า ก่อนนี้บิดา ปลูกทุเรียนอยู่ประมาณ 60 ไร่ เป็นมรดก กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วผลผลิตทุเรียนมีน้อยลง เนื่องจากต้นทุเรียนมีอายุมาก ทรุดโทรมจึงจำต้องโค่นทิ้ง
แล้วก็มองหาพืชตัวอื่นเพื่อมีรายได้จุนเจือครอบครัว และพบว่า กล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 น่าสนใจจึงนำพันธุ์มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ใช้หน่อใบแคบที่มีความสมบูรณ์ดีมาทดลองปลูกทดแทนทุเรียนโดยการปลูกผสมผสานกับพืชผักสวนครัว
ในการ ปลูก หลุมขนาด 50๚50๚50 เซนติเมตร รองก้นด้วย ปุ๋ยคอก คลุกเคล้ากับหน้าดิน อัตรา 5 กิโลกรัม ต่อหลุม แต่ถ้าต้องการไว้หน่อเพื่อเก็บเกี่ยว ผลผลิตต่อไปอีก 1-2 รุ่น ควรรองก้นหลุมด้วย หินฟอสเฟตอัตรา 100-200 กรัมต่อหลุม ระยะปลูก 1.5-1.75๚2 เมตร วางหน่อพันธุ์ที่หลุมปลูกให้ลึก 25-30 เซนติเมตร โดยจัดวางหน่อพันธุ์ให้ด้านที่ติดกับต้นแม่อยู่ในทิศทางเดียวกัน กลบดินลงหลุมปลูกและกดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ในการเจริญเติบโตเป็นระยะๆ ใช้เวลาราวๆ 8-9 เดือนก็จะให้ผลผลิต เมื่อให้ผลผลิตแล้วควรตัดต้นทิ้งทันที เพื่อให้รุ่นต่อมาออกผลผลิตทดแทน
สำหรับปัญหาสำคัญที่มีต่อคุณภาพของผลผลิตนั้น ก่อนจะปลูกต้องแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำยาป้องกันแมลง เพื่องดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค รวมทั้งการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกผลผลิตไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ดังนั้นกระบวนการผลิตจึงต้องมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสม เมื่อกล้วยออกเครือแล้วจะต้องใช้ถุงคลุมเพื่อป้องกันแมลง
เมื่อนำออกมาจำหน่ายที่ตลาดกองดิน มีนักธุรกิจชาวต่างชาติเดินทางมาสั่งซื้อไปส่งออก ทำให้สินค้าผ่านฉลุย หากสนใจอยากไปชมสวนกล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 หรือต้องการความรู้กริ๊งกร๊างหากิตติพงศ์ 08-9936-4976, 08-6791-2107 เขายินดีให้ความรู้เป็นวิทยาทาน แถมยังจะช่วยจัดการรวมกลุ่มเพื่อการส่งออกให้มีโอกาสรับทรัพย์ได้อีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 28 กรกฎาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/99296