เมื่อวันที่ 19 มกราคม 53
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ทำให้สินค้าเกือบทุกชนิดรวมทั้งสินค้าเกษตร 23 รายการ ที่เคยมีมาตรการด้านปกป้องภาษี ต้องลดภาษีให้เหลือ 0% ยกเว้น กาแฟ มันฝรั่ง เนื้อมะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอก ซึ่งจะคงภาษีไว้ที่ 5% โดยสิ่งที่หลายคนเป็นห่วงมากในขณะนี้คือ สินค้าข้าวของไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกจำนวนมากประมาณ 3.7 ล้านครอบครัว ทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายแสนล้านบาท อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าอื่น เพราะต้นทุนการผลิตของไทยยังคงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แม้ว่าคุณภาพของผลผลิตของเราจะสูงกว่าก็ตาม เพราะผู้บริโภคอาจให้ความสำคัญด้านราคามากกว่าคุณภาพ
เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ จึงวางมาตรการป้องกันการนำเข้าข้าว เช่น กำหนดคุณสมบัติของผู้นำเข้า และมีการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า กำหนดชนิดข้าวที่จะอนุญาตให้นำเข้า เช่น ให้นำเข้าเฉพาะปลายข้าวที่เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเท่านั้น กำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าวที่เป็นมาตรฐานเดียวกับที่บังคับใช้ภายในประเทศ และกำหนดเงื่อนไขปลอด GMO เป็นต้น
นายธีระกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับอีกมาตรการหนึ่งที่สำคัญคือการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น กองทุน เอฟ ที เอ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ ได้อนุมัติเงินให้การสนับสนุนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าไปแล้ว 7 สินค้า ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร กระเทียม ปาล์มน้ำมัน ชาและกาแฟ จำนวน 12 โครงการ คิดเป็นงบประมาณจำนวน 346.64 ล้านบาท ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ คงต้องเร่งสร้างความเข้าใจและชี้แจงให้เกษตรกรหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกชนิดได้รับทราบแนวทางการช่วยเหลือของกองทุนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตสินค้า ซึ่งมีพันธกรณีต้องลดภาษีและโควตา 23 รายการ รองรับการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน อาทิ สินค้าข้าว ซึ่งมีเกษตรกรผู้ผลิตถึง 3.7 ล้านครัวเรือน เพื่อนำไปสู่การปรับตัวควบคู่กับมาตรการบริหารการนำเข้า ณ ด่านศุลกากรที่รัฐได้กำหนดขึ้นเพื่อปกป้องการนำเข้าอีกทางหนึ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 19 มกราคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=195790