เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 53
ทุกวันนี้ปุ๋ยอินทรีย์ที่วางจำหน่ายนั้น พบว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มาตรฐานนัก ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์ที่วางจำหน่ายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ผ่านมานั้น จากจำนวน 93 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 7 ตัวอย่างที่ได้มาตรฐาน
ฉะนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรชาวสวน อาจารย์ดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหม ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้ร่วมกับชาวบ้านตำบลเกาะช้าง จังหวัดตราด "ผลิตปุ๋ยชีวภาพเชิงวิทยาศาสตร์" ใช้ โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สนับสนุนทุน
อาจารย์ดำรงศักดิ์ บอกว่า แรกเริ่มนั้นเข้ามาที่ชุมชนสลักคอก เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย หลังคลุกคลีอยู่กับกลุ่มชาวบ้านช่วงหนึ่งจึงรู้ว่า ที่นี่นอกจากน้ำมีปัญหาการปลูกพืชยังได้ผลผลิตไม่ดี ต่อมาจึงร่วมกับ นางพัชรินทร์ ผลกาด ประธานกลุ่มและชาวบ้านพื้นที่ หมู่ 4 ต.เกาะช้างใต้ แก้ปัญหาด้วยการลองผิดลองถูก พร้อมทั้งแนะนำให้รู้ว่า "ต้นไม้ต้องการอะไร"
โรคต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งสวนส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ และทองดี มังคุด ยางพารา มะนาว มาจากสาเหตุใด ควบคู่กับนำตัวอย่างดินส่งตรวจที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ผลว่า ธาตุเหล็กหากอยู่ในดินมากจนถึงระดับที่เป็นพิษ ซึ่งหากค่าเกิน 300 ไมโครกรัม/กิโลกรัม จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ผลิตผลของพืช และจากการส่งตรวจดินที่เกาะช้างใต้พบว่ามีธาตุเหล็กค่าอยู่ที่ 1,200 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่ามาก
แล้วร่วมกับชาวบ้านทำปุ๋ยหมัก แต่เกิดการเน่า หลังปรับสูตรเห็นว่ามีสปอร์ขึ้น ได้เอาไปใส่ต้นส้มโอ ประมาณ 1 เดือน ผลที่ได้คือต้นส้มโองามรสชาติดีและในช่วงนี้ยังมีผลิตผลส่งขายมะนาวออกผล 3 รอบ แต่สวนยางพารายังมีปัญหาเชื้อรา หน้ายางแข็งตาย ใบไม่งาม ดินในสวนมีความแข็ง จึงเอาปลาซึ่งในพื้นที่มีอยู่จำนวนมากมาหมักร่วมกับเศษผักนาน 20 วัน แล้วนำไปผสมอัตราส่วนต่างๆ หากใช้น้ำหมักปลาปริมาณมากกว่านั้นจะทำให้ใบพืชไหม้ ซึ่งที่เหมาะสมคือ 5 ลิตร/ปุ๋ย 1 ตัน แต่แก้ปัญหาโรคราใบจุดไม่ได้
ดังนั้นจึงนำแร่ "เพอร์ไลต์" เป็นหินภูเขาไฟ มีคุณสมบัติช่วยปรับสภาพดินให้เป็นกลาง ดูดซับสารพิษตกค้าง แก้ปัญหาดินเป็นกรด ด่าง ทำให้ดินร่วนซุย ปรับสภาพโครงสร้างดินให้ดีขึ้น ปลดปล่อยธาตุต่างๆ ลดการคายน้ำช่วยให้ผนังเซลล์พืชแข็งแรงต้านทานโรค ป้องกันการเจาะของไร รา เพลี้ย และหอยที่เพิ่งวางไข่ ฯลฯ มาใส่ปริมาณ 25 กก./ปุ๋ยหมัก 1 ตัน ทดลองใส่อยู่ 75 วัน
ปัญหาก็ยังไม่หมดไป ดังนั้น ได้นำเชื้อรา "อาร์-บัสคูล่าร์ไมโครไรซ่า" ร่วมกับ จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรผลิต และจากการศึกษาพบว่า เชื้อราดังกล่าวจะมีมากในรากพืช โดยเฉพาะ ผักบุ้ง จึงให้เกษตรกรปลูกพืชดังกล่าว เพื่อนำดินส่วนรากอัตรา 5 ขีด ผสมกับปุ๋ยหมักหลังนำไปใส่สามารถ แก้ปัญหาโรคใบเหลืองร่วง หน้ายางแข็ง ไม้ผลสร้างใบอ่อนขึ้นใหม่ ทุกวันนี้จากเดิมที่เคยซื้อปุ๋ยปีละ 80,000 บาท ตอนนี้เหลือเพียง 5,000 บาท ผลผลิตน้ำยางที่ได้เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ (ต้นยางมีอายุ 15 ปี)
ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท รักษาการผู้อำนวยการ อพท. เผยว่า ทาง อพท.มีพื้นที่พิเศษที่ประกาศไว้เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งเกาะช้างเป็นหนึ่งในจำนวนนี้ จากการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี สถาบันการศึกษาเป็นหนึ่งในภาคีการพัฒนามีองค์ความรู้ และมีพื้นที่ทำการวิจัยพัฒนาเฉพาะทาง ได้เข้าไปแก้ปัญหาทรัพยากรในท้องถิ่น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญ ที่นอกจากแก้ปัญหาด้านต้นทุนการเกษตรยังเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิตเพื่อรองรับ การท่องเที่ยวที่จะกลับคืนมาอีกครั้งอย่างยั่งยืน โดยที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมคิด ลองผิด แก้ปัญหากันเองถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
สำหรับเกษตรกรรายใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โทร.08–4362–5091, 08–1759–3870 ทุกวันในเวลาที่เหมาะสม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 2 สิงหาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/100457