กลไกราคาสินค้าเกษตร เรื่องเก่าเก็บมาเล่าใหม่
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 53
กลไกราคาสินค้าเกษตร เรื่องเก่าเก็บมาเล่าใหม่
ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของประเทศที่เอื้อต่อการทำการเกษตรนี้เองทำให้เกษตรกรรมกลายเป็นอาชีพหลักของคนมากกว่าครึ่งประเทศ แต่ภาพหนึ่งที่เกษตรกรไทยไม่เคยสลัดให้หลุดพ้นไปได้คือความยากจน
ช่วงที่ผ่านมาต้องบอกว่าภาคเกษตร มีแต่เรื่องร้อน ๆ ต้องคอยแก้ปัญหาไม่หยุดหย่อน เท่าที่สังเกตก็เกิดจากภาวะร้อนที่ผิดปกติ ซึ่งกระทบกับการผลิตสัตว์และพืชทำให้ผลผลิตลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาวะร้อนแล้งนี้ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยมาตั้งแต่ ปลายปีที่แล้ว แม้ว่าการลดลงของผลผลิตนี้จะส่งผลให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น แต่ถ้าให้เลือกคงไม่มีเกษตรกรคนใดอยากให้ผลผลิตของตัวเองออกมาน้อย เพราะใครก็ตามที่ปลูกพืชหรือแม้แต่เลี้ยงสัตว์ ต่างก็ต้องการให้ปริมาณผลผลิตมีมาก เพื่อจะได้มีของมากพอที่จะขาย ไม่ใช่ได้ของน้อยแต่ขายแพงแบบนี้ เพราะถ้าย้อนกลับไปดูต้นทุนที่ต้องซื้อพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์มาหว่านมาเลี้ยง แต่ต้องเก็บเกี่ยวได้ไม่คุ้มทุนแบบนี้ก็เห็นจะแย่
ทั้งที่ความจริงแล้วภาคผู้ผลิตเองทั้งเกษตรกรชาวไร่ที่ปลูกพืชพวกที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตั้งแต่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือแม้แต่ข้าว (ใช้ส่วน ของปลายข้าว) ต่างก็พอใจกับราคาผลผลิตที่ขายได้ หรือแม้แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เองก็เพิ่งจะมีกำไรก็ช่วงนี้ จากที่ต้องขายถูกให้ผู้บริโภคได้กินของดีราคาถูกอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก็เพิ่งจะมีได้กำไรบ้างก็ตอนนี้
ที่ผ่านมาราคาหมูและไข่ไก่ที่เพิ่มขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและภาวะแห้งแล้งที่ส่งผลกระทบกับการเลี้ยงสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การส่งผลกระทบต่อหมูก็ทำให้ลูกหมูขุนที่เลี้ยงโตช้า เนื่องจากเครียดจากอากาศร้อน อัตราการกินต่ำ การเจริญเติบโตจึงต่ำกว่ามาตรฐาน หรือแม้แต่แม่หมูเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่อาจจะส่งผลมากกว่าเพราะแม่หมูมีลูกในท้อง ซึ่งโดยปกติจะต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ที่ 26-28 องศา แต่ปีนี้อากาศร้อนผิดปกติกว่าทุกปี เพราะอุณหภูมิสูงถึง 41-43 องศา เรียกว่าสูงกว่าอุณหภูมิที่แม่หมูต้องการถึงเกือบครึ่ง ขณะที่แม่ไก่เองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เพราะภาวะเครียดจากอากาศร้อนนี้ ทำให้แม่ไก่ออกไข่น้อย ผลผลิตที่ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แถมไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดก็มีขนาดฟองเล็กลง การเลี้ยงสัตว์ในปริมาณเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตต่ำลงเช่นนี้ คนที่ได้รับผลเต็ม ๆ ก็หนี ไม่พ้นเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนการเลี้ยงที่ปรับสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวนี่เองที่ทำให้ราคาขายจำเป็นต้องปรับให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แต่เมื่อถึงวันนี้เข้าสู่ฤดูฝน ที่มีน้ำฝนช่วยลดอุณหภูมิให้ต่ำลง เมื่ออากาศเย็น ปริมาณผลผลิตทั้งไข่ไก่ และเนื้อหมูก็เข้าสู่ตลาดเพิ่ม แถมมีอาหารตามธรรมชาติ พวกกุ้งหอยปูปลาออกมาช่วยแชร์ตลาดเนื้อสัตว์ตามปกติด้วยแล้ว ทำให้ราคาสินค้าทั้งสองประเภทกลับเข้าสู่วงจรเดิมที่ว่าด้วยหลักอุปสงค์-อุปทาน หรือกลไกการตลาดซึ่งเป็นธรรมดาของสินค้า คือ เมื่อปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการไม่ได้สูงตาม สิ่งที่ ตามมาคือราคาสินค้าที่ต่ำลง วันนี้จึงเห็นทั้งราคาไข่ไก่ และราคาหมูที่ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุดเห็นว่าทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯออกประกาศปรับลดราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มลง อีกกิโลกรัมละ 1 บาท ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มเหลือกิโลกรัมละ 60-61 บาท (มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคมเป็นต้นไป) แต่ราคาหมูเป็นที่ปรับลดลงนี้ ยังไม่ส่งผลให้ราคาหมูหน้าเขียงปรับลดลงทันที เนื่องจากสูตรการปรับราคาจะมีการปรับราคาต่อเมื่อราคา “หมูเป็น” ปรับลดลงกิโลกรัมละ 3 บาท ถึงจะทำให้ราคาหมูเป็นหน้าเขียงปรับลดลงกิโลกรัมละ 5 บาท
ราคาที่ลดลงนี้เป็นเพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่ไปเกื้อหนุนให้ราคาลดลงตามกลไกตลาด ราคาสินค้าเกษตรควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด แม้ราคาหมู ราคาไข่สูงขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรก็ไม่แน่นอน มีขึ้นมีลงซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ที่เกษตรกรต้องเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น การประกอบอาชีพทางการเกษตร ควรทำในลักษณะ “เกษตรผสมผสาน” กันเอาไว้ เผื่อได้เผื่อเสีย จริงไหม?.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 สิงหาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=82355
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง