เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 53
นายธิติ วิสารัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า สถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช จ.นครราชสีมา ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้โตเร็ว ทั้งการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม และเทคนิคการขยายพันธุ์ไม้โตเร็ว โดยมีการปรับปรุงพันธ์ไม้ยูคาลิปตัส ยูโรฟิลล่า กระถินเทพา กระถินณรงค์ลูกผสม อะคาเซีย ออลาโคคาร์ป้า และอะคาเซีย คราสสิคาร์ป้า ให้มีความเหมาะสมในการปลูกสร้างสวนป่า รวมถึงการวิจัยไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน โดยการคัดเลือกชนิดไม้โตเร็ว ระยะปลูกที่เหมาะสม และระยะเวลาของรอบตัดฟันที่จะตัดขายเพื่อให้ได้กำไร
นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการศึกษาเพื่อใช้เป็นต้นแบบสำหรับการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ในการพัฒนาพื้นที่ทุ่งหญ้าคา และหญ้าพง โดยอาศัยพันธุ์ไม้ตระกูลถั่วทั้งที่เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและต่างถิ่นเป็นพันธุ์ไม้เบิกนำ ทำให้พื้นป่าที่เสื่อมโทรมค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นป่าดิบแล้ง ซึ่งเป็นป่าดั้งเดิมของพื้นที่นี้ โดยดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525-2536 เป็นพื้นที่ 8,300 ไร่ และในขณะเดียวกัน ก็ทำการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสวนป่า โดยพิจารณาถึงการทดแทนหรือการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของพันธุ์ไม้ดั้งเดิมในสวนป่าไม้โตเร็ว และหากพื้นที่ใดที่ห่างไกลจากแหล่งแม่ไม้ธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องมีการปลูกเสริมไม้ดั้งเดิมในสวนป่าพร้อมกันก็ทำการขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าภูหลวง เพื่อมุ่งหวังที่จะเพิ่มความหลากหลายในสวนป่าควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสวนป่าเชิงเดี่ยว โดยใช้พันธุ์ไม้ที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยา เพื่อทราบถึงความเป็นไปได้ของการทดแทนตามธรรมชาติในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับสถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช เกิดขึ้นจากกรมป่าไม้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น พิจารณาเลือกพื้นที่ดำเนินการของโครงการในบริเวณพื้นที่ป่าสะแกราช พื้นที่ประมาณ 46,620 ไร่ เป็นพื้นที่ดั้งเดิมของป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง เพื่อทำการศึกษาพัฒนาหรือยกระดับเทคนิคการปลูกสร้างสวนป่า โดยคำนึงถึงสภาวะทางด้านเศรษฐกิจ แรงงานในท้องถิ่น การใช้เครื่องจักรกล ประกอบการดำเนินการเพื่อศึกษาหามาตรการ วิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันไฟและลมในพื้นที่ปลูกสร้างสวนป่า ตลอดจนการจัดตั้งแปลงปลูกสร้างสวนป่าทดลองและแปลงปลูกป่าสาธิต เพื่อนำผลที่ได้รับมาใช้เป็นแนวทางในการแนะนำชนิดไม้ต่างถิ่นและไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมและสมควรจะนำไปใช้ปลูกสร้างสวนป่าในท้องที่ต่างๆ ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 3 สิงหาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=221921