เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 53
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ชุมชนตำบลห้วยบง 25 หมู่บ้าน กรมวิชาการเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยบง สำนักงานเกษตรอำเภอด่านขุนทด สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา จัดทำโครงการรณรงค์ห้วยบงปลอดภัยจากเพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งครบวงจร ตั้งแต่การให้ความรู้แก่เกษตรกร 25 หมู่บ้าน 800 ราย การรณรงค์แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูก การร่วมกันให้สัตยาบันเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งของชุมชน การติดตามเฝ้าระวัง การติดตามประเมินผลและการใช้ทดลองใช้แตนเบียน 80,000 คู่ ควบคุมเพลี้ยแป้งในตำบลห้วยบง โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังใน พื้นที่ 36 จังหวัด ครอบคลุมเนื้อที่ 406,962 ไร่ สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด คือ จ.นครราชสีมา รองลงมา ได้แก่ กาญจนบุรี พิษณุโลก กาฬสินธุ์ และยโสธร ทั้งยังพบการระบาดเพิ่มขึ้นใน จ.พิษณุโลกและบุรีรัมย์ ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และต้องลดพื้นที่ระบาดลงโดยเร็ว
สำหรับการขยายพันธุ์แตนเบียน ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้นำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์แตนเบียน Anagyrus lopezi จากสาธารณรัฐเบนิน เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนที่ห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พร้อมศึกษาทดสอบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการกักกัน แล้วนำแตนเบียนที่เพาะได้ ไปทดลองปล่อยในแปลงปลูกมันสำปะหลังภายในพื้นที่ของสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง แห่งประเทศไทย (ห้วยบง) จ.นครราชสีมา ซึ่งมีการระบาดของเพลี้ยแป้งเพื่อศึกษาความสามารถในการอยู่รอดของแตนเบียน และศึกษาผลกระทบต่อภาพแวดล้อม เบื้องต้นพบว่า แตนเบียน A. lopezi ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสภาพแวดล้อม การใช้แตนเบียนควบคุมเพลี้ยแป้ง จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยลดความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้เป็นอย่างดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 4 สิงหาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=222083