เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 53
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากลให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น และเพิ่มความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของสินค้าให้แก่ประเทศผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างทรัพยากรดิน โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการอนุรักษ์ ดินและน้ำ การฟื้นฟู ปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์มีศักยภาพในการผลิต ตลอดจนมีการกำหนดเขตการใช้ที่ดินให้เหมาะสมและเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่และการขนส่งวัตถุดิบเป็นหลัก เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร
โดยในปีที่ผ่านมา กรมได้จัดทำโครงการสำรวจและจัดทำเขตการใช้ที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ 10 ชนิด ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวนาปรัง กาแฟ ทุเรียน ลำไย และยางพารา เพื่อจัดทำเขตการใช้ที่ดินผลิตพืชเศรษฐกิจให้มีความเหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่เกษตรกรรม และเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศให้ได้มากที่สุด
ดังนั้นในปี 2554 กรมมีแผนจัดทำเขตการใช้ที่ดินตามความเหมาะสมของดินกับการปลูกเศรษฐกิจเพิ่มอีก 5 ชนิด ได้แก่ มังคุด ถั่วเหลืองฤดูแล้ง สับปะรดโรงงาน เงาะ และมะพร้าว โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลตามเงื่อนไขความเหมาะสมของพื้นที่ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม เพื่อกำหนดเขตการใช้ที่ดินที่สอดคล้องตามนโยบายการใช้ที่ดินของภาครัฐ พร้อมจำลองรูปแบบเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงและจัดทำระบบเรียกใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สำหรับใช้ในการเลือกตัดสินใจในการผลิตพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดไม่ให้เกิดการทับซ้อนกับพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มว่า การจัดทำเขตการใช้ที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจ เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการเลือกผลิตพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อน และมีความเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เป็นที่ยอมรับของเกษตรกร โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล สำรวจและเก็บข้อมูลจากเกษตรกรตัวอย่างในแต่ละพื้นที่ แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงบรรยายและเชิงพื้นที่ เพื่อให้ได้แผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจในการผลิตพืชเศรษฐกิจในภาพรวมของ ประเทศได้ในอนาคต โดยผลการศึกษาจะเสนอผลงานในรูปแบบของรายงานพร้อมแผนที่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการกำหนดเป้าหมายการผลิตที่เหมาะสมของประเทศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 6 สิงหาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=222372