เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 53
ข้าวกล้อง เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่มีข้อเสีย คือ ระยะเวลาการเก็บสั้น ใช้เวลาในการหุงสุกที่นาน เนื้อสัมผัสแข็งหลังหุงสุก รสชาติไม่อร่อยถูกปาก ผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กๆและกลุ่มวัยรุ่นสมัยใหม่ หนทางการตลาดจึงไม่สดใสเท่าที่ควร
ดังนั้น นักวิจัยพร้อมด้วยนักวิชาการหลายหน่วยงาน จึงได้หาหนทาง พัฒนาคุณภาพของข้าวกล้อง เพื่อลดปัญหาดังกล่าว จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า "ข้าวกล้องงอก" และ "น้ำข้าวกล้องงอก" ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการผลิต ข้าวกล้องงอกมีกระบวนการมากมาย อีกทั้งต้องควบคุมอย่างดี เพื่อ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และลดปัญหาการเน่าเหม็นระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งปัญหานี้พบเห็นได้จากน้ำข้าวกล้องงอกที่ไม่ได้คุณภาพจะมีกลิ่นเหม็นเน่า
จากสาเหตุดัง กล่าว นายศราวุฒิ สุขนาค น.ส. เบญจวรรณ พงษ์ศักดิ์ และ น.ส.สุกานดา สนรัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงทำการออกแบบและสร้าง "เครื่องผลิตข้าวกล้องงอกขนาดเล็กในครัวเรือน" ขึ้นมา โดยมี ผศ.ดร.สุนัน ปานสาคร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
โดยการวิจัยเริ่มจากการนำความรู้ที่ว่า ข้าวกล้องงอกจะมีสารแอนโทไซยานิน ช่วยลบล้างสารที่ ก่อมะเร็งออกฤทธิ์ทางขยายหลอดเลือด ที่มีความอ่อนนิ่มลดไขมันแอลดีแอล ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และอัมพาต ฉะนั้น การสร้างเครื่องผลิตข้าวกล้องงอกขนาดเล็กในครัวเรือน ใช้สำหรับการผลิตข้าวกล้องงอกเพื่อการบริโภคสดและการจำหน่ายในรูปน้ำข้าวกล้องงอก โดยให้มีกำลังการผลิตข้าวกล้องงอกได้ 8-10 กิโลกรัมต่อวัน จึงลดการสูญเสียวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.สุนัน ปานสาคร บอกด้วยว่า จากการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องผลิตข้าวกล้องงอกที่อุณหภูมิห้อง (~27R 2oC, 60R5% RH) ลักษณะของตัวเครื่องผลิตข้าวกล้องงอกประกอบด้วยตัวถังรูปทรงสี่เหลี่ยมทำจากสเตนเลส ขนาด 0.4๚0.6๚0.4 เมตร มีระบบควบคุมการเปิดปิดวาล์วน้ำเข้า 1 ชุด ชุดควบคุมน้ำออก 1 ชุด และชุดควบคุมการสเปรย์น้ำ 1 ชุดทำงานแบบอัตโนมัติด้วยการตั้งเวลาเปิด-ปิดตามที่ต้องการ
เมื่อทดสอบแล้วพบว่า ก่อนการผลิตต้องแช่ข้าวกล้องสดในน้ำ 3-4 ชั่วโมงที่ความหนา 1 ซม. หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวน การบ่มที่อุณหภูมิเดิมเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ระหว่างกระบวนการบ่มจะทำการสเปรย์น้ำเพื่อล้างข้าวกล้องทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น (24 ชั่วโมง) จะให้คุณภาพของข้าวกล้องงอกดีที่สุดโดยการเพิ่มขึ้นของสาร GABA จากข้าวกล้องที่ไม่ผ่านการงอก (20 mg/kg) ถึง 4 เท่า (88 mg/kg) ในการสเปรย์น้ำผ่านข้าวกล้องระหว่างกระบวนการงอก พบว่า สามารถลดปริมาณจุลินทรีย์ลงได้จาก 25.70E+ 05 cfu/g เป็น 7.5E+05 cfu/g และให้คุณสมบัติทางด้านสีและกลิ่นของข้าวกล้องงอกที่ดีขึ้น
สำหรับการออกแบบและสร้างเครื่องผลิตข้าวกล้องงอกขนาดเล็กในครัวเรือนนี้ เป็นงานวิจัยที่พร้อมจะผลิตเป็นอุตสาหกรรม หากสนใจกริ๊งกร๊างหา ผศ.ดร.สุนัน 0-2549-3580 ในช่วงเวลาที่คิดว่าท่านว่างจากการสอนหนังสือสะดวกที่สุด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 9 สิงหาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/102201