พัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน รองรับอาฟต้า
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 53
พัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน รองรับอาฟต้า
กรมส่งเสริมการเกษตร พาไปดูงานการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันคุณภาพดี ณ จ.กระบี่ ที่ทางกรมดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันปี 2551-2555 โดยใช้งบกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้และเป็นการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถผลิตปาล์มน้ำมันแข่งขันได้ในอนาคต
ความสำคัญของการปลูกปาล์มน้ำมันโดยทั่วไปคือ ปาล์มน้ำมันเป็นไม้ยืนต้นที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อม รักษาความสมดุลของระบบนิเวศ เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการเจริญเติบโตสูงกว่าหรือเท่ากับป่าดงดิบเขตร้อนชื้น ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นที่มีอายุการให้ผลผลิตยาวนาน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องทั้งปี ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันต่อหน่วยต่ำกว่าน้ำมันพืชอื่น น้ำมันปาล์มสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งอุปโภค และบริโภค ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มากกว่า 600 ชนิด นอกจากนี้แล้ว ส่วนต่าง ๆ ของต้นและผลสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2551-2555 เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อ เนื่องอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล จำนวน 2.5 ล้านไร่ ในระยะเวลา 5 ปี ส่วนหนึ่ง เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลกำหนด นโยบายด้านพลังงานทดแทนโดยที่มีเป้าหมายที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลร้อยละ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เพิ่มเป็นร้อยละ 5 ในปี 2553 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ในปี 2555
การส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยในปัจจุบัน ประเด็นสำคัญอยู่ที่การลดต้นทุนการผลิต โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน โดยแนะนำให้เกษตรกรตรวจวิเคราะห์ดิน และใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ เพื่อให้ต้นปาล์มน้ำมันได้รับธาตุอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมี และช่วยเพิ่มผลตอบแทนแก่เกษตรกร
นอกจากนั้น การแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต โดยการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มสุก ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง จะมีส่วนให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มสามารถสกัดน้ำมันได้เปอร์เซ็นต์สูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศลดลงตามไปด้วย
ในส่วนของจังหวัดกระบี่นั้น มีความเหมาะสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะว่า จังหวัดได้รับอิทธิพลจากมรสุมจากทะเลทางฝั่งอันดามันและทะเลฝั่งอ่าวไทยตลอดทั้งปี ทำให้ปริมาณน้ำฝนกระจายเฉลี่ยปีละมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี และคุณภาพของชุดดินที่มีหน้าดินลึกสภาพดินเป็นดินร่วนเหนียวที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยิ่งและได้มีการปลูกปาล์ม น้ำมันเพื่อการพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย โดยบริษัทอุตสาหกรรมและสวนปาล์มจำกัด (สวนเจียรวานิช) ได้เริ่มนำต้นปาล์มน้ำมัน มาปลูกเพื่อการพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2511 ที่อำเภอปลายพระยาเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ จากนั้นเกษตรกรในจังหวัดกระบี่ได้เริ่มปลูกและขยายพื้นที่เรื่อยมา จนปัจจุบัน จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 895,192 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เกษตรกรมากกว่า 2 หมื่นครัวเรือน ที่ประกอบอาชีพการ ทำสวนปาล์มน้ำมัน มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 788,599 ไร่ ผลผลิตปาล์มน้ำมันทะลาย สดที่ผลิตได้ในปัจจุบัน โดยเฉลี่ย 3,260 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตทะลายปาล์มสดที่ ผลิตได้ทั้งปี รวม 2.57 ล้านตัน มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 19 โรงงาน
ปัจจุบันปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในการสร้างรายได้ของประชาชนในจังหวัดกระบี่ และเป็นพืชสำคัญที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายในการขยายพื้นที่การปลูก เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งในการเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มโดยการขยายพื้นที่ปลูก จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปี ประกอบกับจังหวัดกระบี่มีพื้นที่จำกัดในการขยายพื้นที่ปลูก จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิต ต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งในการเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน สามารถทำได้โดยการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากการสกัดน้ำมันให้สูงขึ้น
ที่กระบี่เขามีวิธีการเพิ่มปริมาณผลผลิตอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปวันพุธหน้า.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 สิงหาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=84177
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง