'มทร.ธัญบุรี' วิจัยก๊าซชีวภาพจากขี้หมูขับเคลื่อนรถยนต์แทนน้ำมันเชื้อเพลิง
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 53
'มทร.ธัญบุรี' วิจัยก๊าซชีวภาพจากขี้หมูขับเคลื่อนรถยนต์แทนน้ำมันเชื้อเพลิง
ด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์มีราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากน้ำมันใต้พื้นโลกมีปริมาณลดน้อยลงทุกวัน และคาดการณ์กันว่าใกล้จะหมดจากโลกในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ทำให้มีการคิดค้นหาพลังงานใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้กับรถยนต์อย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทยนอกจากมีการรณรงค์ให้ประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์แล้ว ก็มีการวิจัยเพื่อหาเชื้อเพลิงที่ประหยัดพลังงานมาใช้กับรถยนต์เช่นกัน อาทิ เอทานอล ไบโอดีเซล ไฮโดรเจน และพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ
อย่างไรก็ตามนอกจากเชื้อเพลิงดังที่กล่าวมาแล้วยังมีพลังงานที่น่าสนใจซึ่งสามารถนำมาใช้กับรถยนต์ได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะเคยได้ยินการนำเอาก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรมาผลิตกระแส ไฟฟ้า หรือเป็นก๊าซหุงต้มภายในครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
แต่มูลสุกรไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่นี้ หากได้ทำการศึกษาอย่างละเอียด จะพบว่าก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสุกรยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นได้อีกมากมาย อย่างที่คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ทำการวิจัยนำก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรมาใช้กับรถยนต์
นายชัยรัตน์ หงส์ทอง และ นายเกรียงไกร แซมสีม่วง ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน ร่วมกันบอกถึงจุดเริ่มต้นที่สนใจศึกษาการนำก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรมาใช้กับเครื่องยนต์ว่า ปัจจุบันประชาชนรู้จักการนำเอาก๊าซชีว ภาพจากมูลสุกรไปใช้อย่างแพร่หลายก็จริง แต่ในบางครั้งการเลี้ยงสุกร ที่มีการผลิตก๊าซชีวภาพได้เป็นปริมาณมาก แต่กลับใช้ก๊าซชีวภาพน้อย ซึ่งเมื่อบ่อที่เก็บก๊าซชีวภาพ มีปริมาณเต็ม ก็จะต้องมีการระบายก๊าซชีวภาพที่เหลือเหล่านั้นปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งในกระบวนการหมักจะเกิดก๊าซมีเทน, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ และไนโตรเจน ซึ่งก๊าซเหล่านี้เมื่อถูกปล่อยออกไปจะมีผลต่อชั้นบรรยากาศ ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนที่ทุกคนต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดที่จะนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสุกรมาบรรจุลงถังและนำมาใช้กับเครื่องยนต์ขนาด 1,600 ซีซี ในรถยนต์ ติดตั้งถังก๊าซแอลพีจี ขนาด 58 ลิตร เพื่อหาประสิทธิภาพการ ใช้งานของก๊าซชีวภาพที่ใช้กับรถยนต์ต่อไป ซึ่งจะได้เป็นแนวทางที่จะพัฒนาพลังงานก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสุกรให้เป็นพลังงานที่จะสามารถนำมาเป็นพลังงานทดแทนได้ในอนาคต
ทั้งนี้จากการศึกษาโดยการบรรจุก๊าซชีวภาพลงถังด้วยชุดบรรจุก๊าซชีวภาพแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1 แรงม้า เป็นต้นกำลังบรรจุก๊าซชีวภาพแรงดัน 200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้เวลาเฉลี่ยในการบรรจุก๊าซชีวภาพ 11.41 นาที หลังจากนั้นนำรถยนต์ไปทำการขับบนถนนเพื่อทดสอบหาประสิทธิภาพ พบว่าการขับเคลื่อนตั้งแต่เริ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ไปจนถึงความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วทำการควบคุมความเร็วไว้ ขับเคลื่อนจนพลังงานก๊าซชีวภาพหมดไปจากถังรถยนต์สามารถวิ่งได้เป็นระยะทางเฉลี่ย 14.30 กิโลเมตร
นายชัยรัตน์ และ นายเกรียงไกร บอกต่อว่า ผลงานนี้เป็นงานวิจัยสำหรับผู้ที่สนใจหรือไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ไม่ควรนำก๊าซชีวภาพมาบรรจุลงถังก๊าซหุงต้มด้วยตนเอง ควรจะต้องศึกษาหาข้อมูลหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและควรคำนึงถึงระบบความปลอดภัยที่จะนำไปใช้ในขณะทำการวิจัยรวมถึงการนำไปใช้งาน เนื่องจากบ่อที่ใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพมีหลายแบบ ซึ่งในแต่ละแบบสามารถผลิตก๊าซได้ปริมาณและแรงดันมากน้อยไม่เท่ากัน หากไม่มีความรู้และความชำนาญจะทำให้เกิดอันตรายได้
หากมีข้อสงสัยหรือสนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือหมายเลขโทรศัพท์ 08-6511-5857 เจ้าของผลงานพร้อมที่จะเผยแพร่รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในงานวิจัยเรื่องนี้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 สิงหาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=85516
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง