พัฒนาปาล์มน้ำมัน รองรับอาฟต้า
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 53
พัฒนาปาล์มน้ำมัน รองรับอาฟต้า
พุธที่ผ่านมากล่าวถึงเรื่องที่กรมส่งเสริมการเกษตร พาไปดูงานการส่งเสริม การปลูกปาล์มน้ำมันคุณภาพดี ณ จ.กระบี่ ที่ปัจจุบันปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในการสร้างรายได้ของประชาชนในจังหวัดกระบี่ และเป็นพืชที่มีความสำคัญที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนอีกด้วย
สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม และลานเทปาล์มน้ำมัน เห็นว่า ทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากการสกัดให้สูงขึ้นได้ คือ การจัดการผลิตที่มีคุณภาพในระดับชาวสวนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้นำท้องถิ่น ผู้รับจ้างเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันและผู้ประกอบการลานเท ในการจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพสู่โรงงาน และเพื่อเป็นฐานในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการผลิตของเกษตรกรของลานเทและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาอาชีพของจังหวัดกระบี่ให้เป็น กระบี่เมืองปาล์มน้ำมัน สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมการผลิตพืช (ปาล์มน้ำมัน) โครงการกระบี่เมืองปาล์มน้ำมันคุณภาพใช้หลักการปฏิบัติ 3 ดี
1.การใช้พันธุ์ปาล์มดี การเลือกใช้พันธุ์มีความสำคัญมาก ถ้าเลือกใช้พันธุ์ผิดจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย จะต้องเป็นพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร์ร่า (DXP) เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ได้จากการผสมระหว่างพ่อพันธุ์ คือ ฟิสิเฟอร่า และแม่พันธุ์ คือ ดูร่า ทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์นี้จะต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อคัด เลือกสายพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งรวมเอาคุณสมบัติดีเด่นของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เข้าด้วยกัน พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมที่นิยมปลูก เป็นแม่พันธุ์เดลิดูร่า ( Deli Dura ) เป็นกลุ่มพันธุ์ที่นิยมใช้เป็นแม่พันธุ์ของพันธุ์ลูกผสมเทเนอร์ร่า (DXP) เนื่องจากมีลักษณะดีเด่น คือ มีความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ที่ดีสู่ลูกหลาน เช่น ให้ผลผลิตทะลายผลปาล์มสดสูงและสม่ำเสมอ องค์ประกอบของน้ำมันต่อทะลายดี มีการเจริญเติบโตดีและแข็งแรง เมื่อนำมาผสมกับพ่อพันธุ์ (Disifera) กลุ่มต่าง ๆ จะได้ลูกผสมที่มีลักษณะและคุณสมบัติดีเด่น และเหมาะสำหรับใช้ปลูกในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ
เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้ว การอนุบาลต้นกล้าพันธุ์มีความสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง การดูแลรักษาต้นกล้าระยะแรกจนถึงนำไปปลูกในแปลงจริง (อายุปลูก 10-12 เดือน) โดยเฉพาะต้นกล้าในถุงพลาสติกสีดำ วางในแปลงกลางแจ้ง ให้น้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ในระยะอนุบาลนี้จะต้องมีการคัดทิ้งต้นกล้าประมาณ 10-25% โดยคัดต้นที่มีลักษณะผิดปกติทิ้ง เพื่อไม่ให้ต้นพันธุ์เหล่านี้ลงไปสู่แปลง จะทำให้เสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
2. การจัดการสวนที่ดี เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชอายุยาว ดังนั้นในการบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะหากมีการบริหารจัดการผิดพลาดไปในช่วงแรก ก็จะมีผลต่อการให้ผลผลิตในช่วงต่อไปของปาล์มน้ำมัน การบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันจะมีการจัดการแตกต่างกันตามช่วงอายุของปาล์มน้ำมัน ซึ่งสามารถแบ่งการจัดการได้ 4 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันก่อนให้ผลผลิต : เป็นการจัดการสวนปาล์มน้ำมันตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงดังกล่าวจะใช้เวลา 30-36 เดือนหลังการปลูก การจัดการในช่วงนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของปาล์มน้ำมัน ทั้งในด้านคุณภาพของต้นปาล์มน้ำมันและประชากรปาล์มน้ำมันในพื้นที่ปลูก
ช่วงที่ 2 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันในช่วงเร่งผลผลิต : การจัดการช่วงนี้จะเริ่มเมื่อปาล์มน้ำมันมีอายุครบ 3 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นให้ผลผลิตจนกระทั่งทำให้ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูงสุดตามศักยภาพของปาล์มน้ำมัน ซึ่งระยะเวลาในช่วงนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเทคนิคในการจัดการของแต่ละ บุคคลและความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก รวมถึงการใช้ปัจจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตที่แตกต่างกัน เช่น ในบางกรณีอาจมีการจัดการให้ผลผลิตสูงสุดภายใน 2 ปีของช่วงที่ 2 (ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 5 ) แต่บางกรณีอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี หลังการปลูก (ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 7)
ช่วงที่ 3 การจัดการสวนในช่วงรักษาระดับผลผลิตที่สูงสุด : การจัดการช่วงนี้จะเป็นการรักษาระดับผลผลิตที่สูงที่สุดให้มีความต่อเนื่องนานที่สุด ตัวอย่างเช่น มีการจัดการสวนปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูง 4 ตัน/ไร่/ปี ในปีที่ 6 และรักษาระดับการให้ผลผลิตระดับ 4 ตัน/ไร่/ปี จนปาล์มน้ำมันอายุ 20 ปี จะได้ผลผลิตรวมมากกว่าการรักษาระดับการให้ผลผลิตระดับ 4 ตัน/ไร่/ปี แค่ปาล์มน้ำมันอายุ 15 ปี (เมื่อปาล์มน้ำมันอายุ 16 ปี ระดับผลผลิตจะลดลง)
ช่วงที่ 4 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันในช่วงผลผลิตลดลง : เมื่อปาล์มน้ำมันอายุมากขึ้นผลผลิตจะลดลง ซึ่งการที่ผลผลิตจะลดลงเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการจัดการสวนในช่วงที่ 3 การจัดการสวนในช่วงนี้จึงเน้นการลดต้นทุนการผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยน้อยลง หรือทำลายต้นที่ให้ผลผลิตน้อย
3. การเก็บเกี่ยวดี (ปาล์มสุก) การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องจะทำให้ทะลายปาล์มน้ำมันมีคุณภาพดี มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ซึ่งจะมีผลต่อราคาปาล์มน้ำมันด้วย (เปอร์เซ็นต์น้ำมัน หมายถึง เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักน้ำมันที่หีบได้ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักทะลายปาล์มสดที่เกษตรกรนำมาขายให้กับโรงงาน) ปัจจัยที่กำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำมันในทะลายจะประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบผล องค์ประกอบของทะลาย และความสุกของผลในทะลาย ซึ่งแต่ละปัจจัยต่างก็มีผลต่อเปอร์ เซ็นต์น้ำมันทั้งสิ้น.
หมายเหตุ ติดตามอ่าน
พัฒนาปาล์มน้ำมัน รองรับอาฟต้า (ตอนที่ 1)
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 สิงหาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=85768
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง