ลำไยปี 53 ตลาดเป็นของผู้ขาย
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 53
ลำไยปี 53 ตลาดเป็นของผู้ขาย
ผลผลิตลำไยในพื้นที่จังหวัดน่านประจำปี 2553 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2553 เกษตรกรได้ทำการเก็บเกี่ยวลำไยแล้วประมาณร้อยละ 52 ของผลผลิต บางอำเภอมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว แต่บางอำเภอ เช่น อำเภอท่าวังผาและอำเภอเชียงกลาง ผลผลิตรุ่นแรกเก็บเกี่ยวไปแล้วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา แต่บางสวนที่มีการปรับปรุงคุณภาพ (ราดสาร) จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายน 2553 นี้
นายจิตรกร สามประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่าปีนี้ราคาลำไย มีราคาดี ตลาดมีความต้องการลำไยสดร่วงเพื่ออบแห้งจึงทำให้พ่อค้า และสหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอในทุกอำเภอมีการแข่งขันการรับซื้อลำไยจากเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีความพึงพอใจในราคา ซึ่งคาดว่าราคาน่าจะยืนอยู่อย่างนี้ตลอดฤดู ประกอบกับปริมาณผลผลิตมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดลำไยอบแห้ง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการด้วยการส่งเสริมสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือให้มีนโยบายสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิตลำไยให้มีคุณภาพ ด้วยการกระตุ้นให้เกษตรกรสมาชิกปรับปรุงกระบวนการผลิตลำไยให้มีมาตรฐานตามหลักวิชาการเกษตร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและตรงกับความต้องการของตลาด และยังทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรสมาชิก เพื่อส่งจำหน่ายให้กับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สมาชิกสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรมและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนลำไย
โดยเฉพาะในปี 2553 พื้นที่จังหวัดน่านมีสหกรณ์การเกษตรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมลำไยจากเกษตรกรสมาชิกจำนวน 5 แห่ง คือ สหกรณ์การเกษตรเวียงสา จำกัด สหกรณ์การเกษตรท่าวังผา จำกัด สหกรณ์การเกษตรเชียงกลาง จำกัด สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด และสหกรณ์การเกษตรภูเพียง จำกัด ซึ่งสหกรณ์จะดำเนินการรับซื้อลำไยจากเกษตรกรสมาชิกทั้งลำไยสดช่อแล้วกระจายออกไปจำหน่ายในตลาดต่างจังหวัดที่เป็นตลาดระดับล่างและตลาดค้าส่ง และรับซื้อลำไยสดร่วง เพื่อนำมาอบแห้ง โดยมีเป้าหมายที่ตลาดค้าลำไยอบแห้ง
สำหรับการดำเนินการรวบรวมลำไยตามโครงการบริหารจัดการตลาดลำไย ปี 2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีสหกรณ์จำนวน 4 แห่งที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในส่วนของมาตรการกระจายลำไยสดช่อออกนอกแหล่งผลิตในพื้นที่ จังหวัดน่าน มีแผนการกระจาย จำนวน 200 ตัน ซึ่งสหกรณ์ฯทั้ง 4 แห่งได้เริ่มดำเนินการกระจายลำไยไปแล้วเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมาโดยมีตลาดคู่ค้าปลายทางส่วนใหญ่คือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดอุบลราช ธานีและราชบุรี แต่เนื่องจากสภาวะอากาศร้อนและแห้งแล้งในช่วงลำไยติดผล ส่งผลให้ผลลำไยมีขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขนาด เกรดลำไย เบอร์ A และเบอร์ B ส่วนเกรดลำไยที่เป็นเบอร์ AA มีประมาณ 20% เท่านั้น แต่เนื่องจากลำไยมีราคาดี เกษตรกรชาวสวนลำไย จึงไม่มีผลกระทบกับรายได้ที่ขายลำไย และสามารถขายได้โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณลำไยและราคาลำไยในปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ลำไยในปีนี้ก็คือตลาดเป็นของผู้ขายอย่างแท้จริง อันต่างจากปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา ที่ผู้ผลิตจะไม่สามารถกำหนดราคาให้กับผลผลิตของตนเองได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากเกษตรกรมีการรวมตัวกันเพื่อทำการต่อรองกับผู้รับซื้อซึ่งก็คือสหกรณ์นั่นเอง และมีแนวโน้มว่าจะมีการนำแนวทางในการดำเนินการเช่นนี้ไปใช้กับผลผลิตภาคการเกษตรชนิดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 สิงหาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=86061
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง