ลุยปราบปรามปุ๋ยปลอมทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 53
ลุยปราบปรามปุ๋ยปลอมทั่วประเทศ
ปัจจุบัน นอกจากเกษตรกรจะต้องประสบปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย อีกสาเหตุหนึ่งคือการใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายรายที่ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมและไม่ได้มาตรฐานออกมาจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ดังนั้นถ้าเกษตรกรหลงไปซื้อปุ๋ยเคมีที่ปลอมเหล่านั้นมาใช้ ไม่เพียงแต่เป็นการเสียค่าใช้จ่ายซื้อของไม่มีคุณภาพเท่านั้น ยังอาจส่งผลเสียต่อผลผลิตและสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคได้ด้วย
ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคออกตรวจ สอบร้านค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออกตรวจตามปกติและจากการได้รับแจ้งเบาะแสจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไป
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดี กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา สามารถดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมและไม่ได้มาตรฐาน รวม 787 คดี แบ่งเป็นปี 2550 จำนวน 105 คดี ปี 2551 จำนวน 314 คดี และปี 2552 อีก 368 คดี ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นสหกรณ์การเกษตร จำนวน 115 คดี สำหรับแหล่งที่พบการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยปลอมและไม่ได้มาตรฐานมากที่สุดอยู่ในภาคกลาง และปุ๋ยสูตรที่พบการปลอมมากที่สุดคือ ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 สูตร 16-8-8 และสูตร 16-16-8
สำหรับผู้กระทำความผิดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-2,000,000 บาท สำหรับผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 120,000-400,000 บาท ส่วนผู้ผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 80,000-200,000 บาท และผู้จำหน่ายปุ๋ย ผิดมาตรฐานต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี ปรับ 40,000-200,000 บาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกษตรกรพบปัญหาปุ๋ยปลอมและไม่ได้มาตรฐาน จึงมีการจัดทำโครงการส่งเสริม การใช้ปุ๋ยที่ได้คุณภาพมาตรฐานในสถาบันเกษตรกรขึ้นมา โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด และกรมวิชาการเกษตร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มีหน้าที่จัดให้สถาบันเกษตรกรที่มีการผลิตและจำหน่าย ปุ๋ยส่งปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยเคมีไปตรวจสอบคุณภาพกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง โดยกรมวิชาการเกษตรให้การสนับสนุนด้านวิชาการและจัดเก็บตัวอย่างปุ๋ยไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพพร้อมออกใบรับรองคุณภาพปุ๋ยให้แก่สหกรณ์การเกษตรนั้น ๆ อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีปริมาณและคุณภาพดีขึ้น จาก การใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามสูตรปุ๋ย
จากความร่วมมือของ 4 หน่วยงานครั้งนี้ จะทำให้เกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยไปจากสหกรณ์มีความมั่นใจต่อคุณภาพปุ๋ยที่ซื้อไป ว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังมีโครงการที่จะผลักดันให้สหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศที่ดำเนินธุรกิจจำหน่ายปุ๋ยให้แก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ซึ่งมีจำนวน 3,200 แห่ง เข้าร่วมโครงการร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือ Q shop ปัจจุบันมีร้านค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการนี้รวม 271 ร้าน แบ่งเป็นร้านค้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรจำนวน 205 ร้านค้า และร้านค้าปุ๋ยจำนวน 66 ร้าน
การปราบปรามผู้กระทำความผิดเหล่านี้ให้หมดไป อาศัยเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรเพียงเท่านั้นคงทำได้ค่อนข้างยาก หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะเกษตรกร ดังนั้น หากผู้ใดพบเบาะแสการกระทำความผิดของผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยปลอมหรือ ไม่ได้มาตรฐาน โปรดแจ้งมายังกรมวิชาการเกษตรหรือเจ้าหน้าที่ของกรมที่ประจำอยู่ในสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต ทั่วประเทศ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=43671
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง