เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 53
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า ปัญหาดินเค็มมีการขยายพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรบางแห่งถูกทิ้งร้างเกิดความแห้งแล้ง และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแปรสภาพเป็นทะเลทรายได้ในอนาคต ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกหลัก ทั้งนี้จากผลการสำรวจพบว่าดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอยู่ประมาณ 11.5 ล้านไร่ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ดินเค็มจัด 0.3 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่นี้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ พื้นที่ดินเค็มปานกลาง 3.8 ล้านไร่ และพื้นที่ดินเค็มน้อย 7.3 ล้านไร่ ที่สำคัญยังพบพื้นที่รับน้ำอีกจำนวน 19.4 ล้านไร่ ที่สามารถแพร่กระจายความเค็มได้หากมีการจัดการไม่เหมาะสม
กรมฯจึงมีนโยบายแก้ปัญหาดินเค็มแบบบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยในพื้นที่ดินเค็มจัด ไม่สามารถทำการเกษตรได้ จะเร่งฟื้นฟูด้วยการปลูกไม้ยืนต้นทนเค็มและหญ้าชอบเกลือ ทำคูคลองระบายน้ำ เพื่อชะลอเกลือออกจากผิวดินและควบคุมระดับน้ำใต้ดินไม่ให้อยู่ใกล้ผิวดิน ส่วนพื้นที่ดินเค็มน้อยและปานกลางนั้นส่วนใหญ่เป็นนาข้าวจะใช้วิธีล้างดินเค็มด้วยน้ำฝน คือขังน้ำฝนไว้ในนาให้ซึมลงใต้ดินจนอิ่มตัวแล้วระบายน้ำทิ้งประมาณ 2-3 ครั้งแล้ว จึงไถพรวนและเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดิน เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ หรือปุ๋ยพืชสดเพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายดินเค็มนั้นจะจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและปลูกไม้ยืนต้น เพื่อป้องกันการเพิ่มเติมระดับน้ำใต้ดินเค็มบนพื้นที่รับน้ำ
ทั้งนี้กรมฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ดินเค็มภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่และพืชเจริญเติบโตได้ดี ช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 288.2 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 318.4 กิโลกรัมต่อไร่
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 20 สิงหาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=224314