เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 53
พลังงาน ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมทุกวันนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบกิจการที่ไม่สามารถหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ หรือพลังงานทดแทนมาใช้ในโรงงาน ก็อาจจะได้รับผลกระทบได้จากปัญหาค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊สหุงต้ม ฯลฯ
นายกร และ นางอรองค์ อารินวงศ์ คู่สามีภรรยาเจ้าของ โรงงานผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และ กระดาษสา ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านใหม่ร่มเย็น ตำบลน้ำแก่น อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ได้ประสบกับปัญหาค่าต้นทุนพลังงานเช่นเดียวกันนี้
โดยทางโรงงานมีความจำเป็นต้องใช้ฟืน ใช้แก๊สหุงต้ม เป็นเชื้อเพลิงในการต้มเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และกระดาษสา ซึ่งขั้นตอนการทำต้องต้ม เม็ดมะม่วง หิมพานต์ถึงวันละปริมาณ 1,500 กิโลกรัม เพื่อแปรรูปเป็นผลผลิตให้ได้ จำนวน 300 กิโลกรัมต่อวัน ในขบวนการแปรรูปดังกล่าวใช้เวลา นานถึง 5–6 ชั่วโมง ใช้ฟืนเป็น เชื้อเพลิงมากถึง 360 กิโลกรัมต่อวัน คิดคำนวณเป็น ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 15,000–20,000 บาทต่อเดือน
ปัจจุบันฟืนวัตถุดิบที่สำคัญก็เริ่มหายากขึ้น จึงได้วิวัฒนาการโดยใช้ เปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้ฟืน ซึ่งก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ในระดับหนึ่ง แต่กลับเกิดปัญหาในเรื่องควันและกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน
สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้เข้ามาช่วยดำเนินงาน โครงการการสาธิตการใช้แก๊สซิไฟเออร์ผลิตเชื้อเพลิงแก๊สใช้ในด้านความร้อน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยมี ผศ.ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ เป็นหัวหน้าโครงการ และ นายอาศิรา บุญแขม วิศวกรโครงการ ได้เชิญชวนเข้าร่วมโครงการ เพราะมีความเหมาะสมในการนำ เทคโนโลยีแก๊สซิไฟเออร์ ที่สามารถนำชีวมวลที่เหลือทิ้ง คือ เปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ กลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการให้พลังงานความร้อนได้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายไม้ฟืนอีกด้วย
ผศ.ดร.ชัชวาลย์ บอกว่า สถาบันจึงได้ออกแบบและติดตั้ง เทคโนโลยีแก๊สซิไฟเออร์แบบเชื้อเพลิงนิ่ง หรือ Fixed bed Gasifier ซึ่งเป็นเตาที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน โดยมีอุปกรณ์หลักๆ 4 ส่วน คือ ระบบเตาผลิตแก๊สชีวมวล, ระบบป้อนเชื้อเพลิง, ระบบทำความสะอาดแก๊สเบื้องต้น และ อุปกรณ์อื่นๆ เช่น พัดลมดูดแก๊ส และ หัวเผาแก๊ส
หลักการทำงานคือ อากาศเย็นจะถูกส่งเข้าตัวคูลลิ่งแก๊ส เพื่อลดอุณหภูมิแก๊สอากาศ โดยการแลกเปลี่ยนความร้อน นำอากาศที่ออกมาจะร้อนเพื่อส่งไปช่วยในการเผาไหม้เปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในเตาปฏิกรณ์ ผลที่ได้คือ ให้ความร้อนสูง ลดปัญหาควันและกลิ่นเหม็นลงได้ และยังช่วย ประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้มากถึงเดือนละ 7,000 บาท
ที่สำคัญเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้น ทำให้โรงงานแห่งนี้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำเป็นโรงงานต้นแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน และ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับโรงงานอื่นๆที่สนใจได้ต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการโรงงาน SMEs ที่ใช้พลังงานความร้อน สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5394-2007 ต่อ 348 เวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 สิงหาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/105452