เปิดโครงการปลูกข้าวแบบใหม่นำร่อง 22 จังหวัดภายใน 4 ปี
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 53
เปิดโครงการปลูกข้าวแบบใหม่นำร่อง 22 จังหวัดภายใน 4 ปี
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานร่วมกับกรมการข้าว และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เตรียมดำเนินโครงการจัดระบบการปลูกข้าวรูปแบบใหม่ โดยปลูกข้าวไม่เกินปีละ 2 ครั้ง นำร่องในพื้นที่ 22 จังหวัด ตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีพื้นที่ในเขตชลประทานตั้งแต่ 150,000 ไร่ขึ้นไป หรือมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังตั้งแต่ 100,000 ไร่ ขึ้นไป และมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหรือพื้นที่ใกล้เคียงกับการระบาด ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี โดยมีระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2556
สำหรับโครงการจัดระบบการปลูกข้าวดังกล่าวนั้น จะกำหนดทางเลือกการปลูกข้าวตามช่วงเวลาเป็น 4 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 ปลูกข้าวนาปี-ข้าวนาปรัง-พืชหลังนา รูปแบบที่ 2 ปลูกข้าวนาปี-นาปรัง-เว้นการปลูก รูปแบบที่ 3 ปลูกข้าวนาปี-พืชหลังนา-ข้าวนาปรัง และรูปแบบที่ 4 ปลูกข้าวนาปี-เว้นการปลูก-ข้าวนาปรัง ซึ่งการเลือกรูปแบบการปลูกข้าวดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานจะออกสำรวจความต้องการเข้าร่วมโครงการ ของเกษตรกรในเขตโครงการชลประทานต่าง ๆ ทั้ง 48 โครงการ ใน 22 จังหวัดเป้าหมาย ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2553
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะไม่ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง แม้จะลดการทำนาเหลือเพียงปีละไม่เกิน 2 ครั้งก็ตาม แต่กลับจะทำให้เกษตรกรมีผลตอบแทนจากการปลูกข้าวมากขึ้น เนื่องจาก ระบบการปลูกข้าวแบบใหม่ จะไม่มีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องจึงทำให้ไม่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ลดการปะปนของข้าววัชพืชหรือข้าวดีด ข้าวเด้งที่เกิดจากการสะสมของการทำนาแบบต่อเนื่องรวมทั้งยังจะลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ข้าวมีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ในสถานการณ์ปกติ เมื่อเทียบกับระบบการปลูกข้าวที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต จากระบบเดิมในสถานการณ์ปกติจะมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยตันละ 6,760 บาท เหลือเพียงตันละ 5,723 บาท ในระบบการปลูกข้าวแบบใหม่ หรือลดลงถึงตันละ 1,037 บาท แต่ถ้ามีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยิ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวรูปแบบเดิมสูงกว่าแบบใหม่ รวมทั้งหากเลือกรูปแบบที่มีการปลูกพืชหลังนา เกษตรกรยังจะมีรายได้จากพืชหลังนา เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน อีกด้วย
“ระบบการทำนารูปแบบใหม่ยังจะทำให้ผลผลิตข้าวโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นแม้พื้นที่การทำนาปรังจะลดลงก็ตาม คาดว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มจาก 6,472 ล้านตันข้าวเปลือก เป็น 6,530 ล้านตันข้าวเปลือก ทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่นาเขตชลประทานดีขึ้น เพราะได้มีการพักดินหรือปลูกพืชอื่นหมุนเวียน ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพื้นที่นาเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะประหยัดน้ำชลประทานได้ถึงประมาณ 1,200-2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตพืชไร่ทดแทนการนำเข้า และช่วยลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี ประมาณปีละ 7,500 ตัน หรือ 112.5 ล้านบาท” นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
ทั้งนี้โครงการจัดระบบการปลูกข้าวดังกล่าว จะมีการประชุมชี้แจงผู้เกี่ยวข้องและเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการในวันที่ 26 สิงหาคม 2553 นี้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 สิงหาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=87572
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง