เพิ่มช่องทางตลาดผลไม้ไทยไปเวียดนาม
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 53
เพิ่มช่องทางตลาดผลไม้ไทยไปเวียดนาม
นายชาญชัย นิมิตมงคล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพัฒนาธุรกิจด้านพืชและผลิตภัณฑ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการเปิดตลาดผลไม้ของสหกรณ์ไทยไปยังประเทศเวียดนามว่า ที่ผ่านมา สหกรณ์ผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพให้กับผู้ส่งออก ซึ่งทำการส่งออกไปประเทศจีนเป็นหลัก และตลาดโมเดิร์นเทรด โดยสหกรณ์มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนตลาดภายในก็เป็นเรื่องปกติที่ดำเนินการอยู่ แต่ในปี 2553 นี้ ได้มีการเพิ่มช่องทางการตลาดอีกแห่งคือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีการประสานผ่านทางบริษัทเอกชน เป็นผู้ส่งออกสินค้า ประเภทผลไม้ที่ส่งไปจำหน่าย เช่น ส้ม มะม่วง มังคุด โดยปีนี้ได้ประสานให้มีการเพิ่มตัวสินค้า คือ ลำไย ซึ่งมุ่งไปที่แหล่งผลิตที่สำคัญ คือ จังหวัดลำพูน และเชียงใหม่ เบื้องต้นที่ได้มีการหารือ จะมีการเปิดจุดรวบรวมผลผลิตเพื่อการส่งออกไปประเทศเวียดนามในสองจังหวัดดัง กล่าวจำนวน 11 จุด ดำเนินการโดยสหกรณ์ในพื้นที่ ซึ่งผลการดำเนินการเป็นไปด้วยดี เนื่องจากตลาดประเทศเวียดนามมีการขยายตัวของการบริโภคผลไม้ที่รวดเร็ว โดยเฉพาะลำไย
“จะมีการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศเวียดนามวันละ 300 ตัน ขณะที่สหกรณ์เป็นปีแรกที่จะทำการตลาดกับเขา ซึ่งหารือกันในแผนจะทำอยู่ที่ประมาณ 3,000 ตัน และได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1,000 ตัน คาดว่า ถ้าทำตรงนี้สำเร็จได้ก็จะมีการขยายตัวต่อไป สินค้าที่ไปประเทศเวียดนาม จะเป็นตัวชี้แนวโน้มตลาดของตัวสหกรณ์ในการเพิ่มช่องทางด้านการตลาดในปี 2554 ตลาดส่งออกน่าจะเพิ่มมากขึ้น โดยผลไม้จากภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมถึงภาคเหนือ ก็น่าจะมีการขยายตัวตามไปด้วย” นายชาญชัย กล่าว
ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพัฒนาธุรกิจด้านพืชและผลิตภัณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในความมั่นคงของตลาดเวียดนามนั้น บริษัทเอกชนที่ได้ประสานอยู่ ได้มีการเปิดบริษัทที่ฮานอย มีมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท และถ้าดูในเรื่องตัวเลขการนำเข้าของเขาแล้ว โดยเฉพาะทางการเงิน เวลาซื้อสินค้าของสหกรณ์จะซื้อเงินสด ฉะนั้นดูตลาด ปริมาณการส่งออก การลงทุน การติดต่อประสานงานทั้งหมดแล้ว มั่นใจว่าตลาดตรงนี้น่าจะเป็นตลาดที่มั่นคงได้ และการขยายตัวเติบโตค่อนข้างจะกว้าง เพราะปัจจุบันเขานำเข้าผลไม้จากประเทศไทยปีละไม่น้อยกว่า 20,000-30,000 ตัน และตามแผนที่ได้ตกลงกัน เขาน่าจะทำตลาดให้ได้ถึง 60,000 ตัน นอกจากนี้ ยังมีการประสานติดต่อในเรื่องของการนำเข้าส้มโอของกลุ่มเกษตรกร อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ อีกด้วย ซึ่งถ้าตลาดเข้าไปได้ ก็จะทำให้การค้าท้องถิ่นมีการแข่งขันในการรับซื้อมากขึ้นก็จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือก และรายได้จากผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 สิงหาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=87573
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง