เมื่อวันที่ 20 มกราคม 53
ยางกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเลยไปแล้ว หลังจากส่งเสริมการปลูกกันมาตั้งแต่ปี 2532
ปัจจุบันจังหวัดเลยมีพื้นที่ในการปลูกยางพารากว่า 3 แสนไร่ และมียางพาราที่สามารถกรีดได้แล้ว 3 หมื่นกว่าไร่ และเกษตรกรที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และพื้นที่การปลูกยางพารายังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จากการที่ทางสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดเลย ได้ดำเนินโครงการชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนคือ พึ่งตนเอง พึ่งพาซึ่งกันและกัน และเครือข่ายชุมชน รวมทั้งหมด 28 ชุมชน ในปี 2552
ขณะนี้ทาง ธ.ก.ส.เข้าสู่ขั้นที่ 3 แล้ว 1 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านห้วยผักกูด ต.เชียงกลม อ.ปากชม ด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
โดยทางคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (มรล.) เข้าร่วม และได้หารือเกี่ยวกับงานวิจัย หรือโครงการนักศึกษาไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและขยายผลสู่ชุมชน
ในช่วงที่ผ่านมาทางสำนักงานคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรล. ได้ลงนามความร่วมมือวิจัยพัฒนาคุณภาพการผลิตยางแก่กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส.เลย โดยมี ผศ.สนิท เหลืองบุตรนาค อธิการบดี มรล. อาจารย์ยุทธศิลป์ ชัยสิทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารภายในคณะ ร่วมมอบเครื่องนวดยางพาราและเครื่องรีดยางพาราแก่ นายสุรัตน์ ขุนเพ็ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. เลย พร้อมคณะผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาในจังหวัดเลย ให้แก่ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยผักกูด อ.ปากชม
อาจารย์ยุทธศิลป์ กล่าวว่า จากการที่เข้าไปร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมโครงการชุมชนต้นแบบ เศรษฐกิจพอเพียงของ ธ.ก.ส.เลย ที่ชุมชนบ้านผักกูด จากการเสวนาเรื่องยางพารา จึงได้มีแนวความคิดที่จะนำงานวิจัยโครงงานของนักศึกษาภายในคณะเข้าไป ประยุกต์ใช้ในการดำเนินการผลิตยางภายในชุมชน ที่จะนำงานวิจัยลงไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง เกิดประ โยชน์แก่ชุมชน
เครื่องรีดดอกยางพารา และ เครื่องนวดยางพารา ที่ทางคณะมอบให้แก่ชุมชนบ้านห้วยผักกูดเพื่อนำไปใช้งาน เป็นผลงานโครงงานของนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และจะได้ติดตามวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำกลับมาพัฒนาประสิทธิภาพต่อไป เพื่อสามารถนำไปส่งเสริมผลผลิตยางพาราแก่ชุมชนอื่นในโครงการ
"เครื่องนวดยางเป็นโครงการพิเศษ เป็นโปรเจ็กต์ของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งได้สร้างขึ้นมา ผมก็มีแนวคิดว่าเมื่อเราสร้างขึ้นมา เราก็ควรนำสู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนทดลองใช้ว่าเครื่องมันบกพร่องตรงไหน เอามาปรับเพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้ก็เป็นผลงานส่วนหนึ่งของนักศึกษา"
ในปีงบประมาณ 53 ทางคณะพยายามศึกษาในเรื่องของรูปแบบ ใช้ระบบของอิเล็กทรอนิกส์มาทำเป็นเครื่องผสม โดยได้งบมา 9 หมื่นกว่าบาทเพื่อมาพัฒนาในตรงนี้ ในส่วนของใช้อิเล็กทรอนิกส์ในการผสมก่อนมาเข้าขบวนการผลิต งบประมาณก็ได้มีการจัดสรรเรียบร้อยแล้ว ก็เหลือแต่ทางอาจารย์สาขาอิเล็กทรอนิกส์ไปปรับปรุงและพัฒนา
เรายังมีเครื่องจักรเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรอีกหลายชิ้น ที่พยายามนำกลับไปให้ชุมชนใช้ เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล และเราก็พยายามไปเก็บข้อมูลและนำองค์ความรู้กลับไปสู่ชุมชน" อาจารย์ยุทธศิลป์กล่าวสรุป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 20 มกราคม 2553
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFpIVXdPVEl3TURFMU13PT0=§ionid=TURNeE5RPT0=&day=TWpBeE1DMHdNUzB5TUE9PQ==