ปลูกแขกดำศรีสะเกษเพื่อหลีกเลี่ยงโรคจุดวงแหวน
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 53
ปลูกแขกดำศรีสะเกษเพื่อหลีกเลี่ยงโรคจุดวงแหวน
หลายคนก็ทราบดีว่าปัญหาหลักของการปลูกมะละกอในประเทศไทยคือ โรคไวรัสจุดวงแหวน หรือบางคนเรียกสั้น ๆ ว่า “
โรคจุดวงแหวน” ซึ่งปัจจุบันนี้มีการระบาดไปทุกพื้นที่ของการปลูกมะละกอ
และนี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พื้นที่การปลูกมะละกอในประเทศไทยลดลงเป็นลำดับ ในทางวิชาการต่างก็ทราบดีว่าเมื่อมะละกอเป็นโรคจุดวงแหวนแล้วไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้อย่างรุนแรง ต้นมะละกอจะเป็นโรคนี้ตายก่อนที่ต้นมะละกอจะออกดอกและติดผลด้วยซ้ำไป มะละกอทุกสายพันธุ์ที่ปลูกกันอยู่ในขณะนี้ มีโอกาสเป็นโรคจุดวงแหวนได้ทุกสายพันธุ์ แม้แต่พันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ก็ไม่ต้านทานต่อโรคนี้เช่นกัน
ในการแก้ปัญหาโรคจุดวงแหวนในมะละกอแบบยั่งยืน จะต้องใช้วิธีเทคโนโลยีการตัดต่อยีนหรือวิธีการพันธุวิศวกรรม ซึ่งขณะนี้งานวิจัยมะละกอตัดต่อยีนที่กรมวิชาการเกษตรทำไว้ประสบผลสำเร็จและเสร็จสิ้นลง แล้วในส่วนของการหาพันธุ์ต้านทานโรคจุดวงแหวน
ผศ.ดร.วิชัย โฆสิตรัตน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคจุดวงแหวนในมะละกอว่า ไวรัสจุดวงแหวนเป็นไวรัสทำลายผลผลิตมะละกอเป็นส่วนมากและยังรวมถึงแตงด้วย โดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ เพลี้ยอ่อนไม่ใช่ศัตรูสำคัญของมะละกอ เป็นแมลงที่หาอาหารด้วยการดูดชิมต้นอื่นอีก โดยใช้เวลาเพียงน้อยนิดในการดูดชิมจากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่งและถ่ายเชื้อไวรัส ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวสวนที่มักปลูกพืชตระกูลแตงร่วมในแปลงมะละกอ ซึ่งเป็นพืชที่เป็นบ้านของไวรัสชนิดเดียวกันทำให้การควบคุมโรคยิ่งยากเข้าไปอีก
ในขณะที่ รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี จากภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กลับมองต่างมุมออกไปเกี่ยวกับปัญหาโรคจุดวงแหวนในมะละกอไม่น่าจะใช่เรื่องสำคัญที่สุด ถ้าเกษตรกรมีการจัดการบำรุงรักษาต้นมะละกอให้แข็งแรงและสมบูรณ์ จะทนทานต่อโรคได้ดีระดับหนึ่ง แต่กลับห่วงปัญหาเรื่องการใช้ยาฆ่าหญ้าในแปลงปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเป็นสารฆ่าหญ้าในกลุ่มไกลโฟเสท และสาร 2, 4-ดี โดยเฉพาะสาร 2, 4-ดี ละอองยาสามารถฟุ้งกระจายไปไกลได้นับร้อยเมตร เมื่อต้นมะละกอได้สัมผัสสารฆ่าหญ้าจะทำให้ใบหงิก และมีลักษณะอาการเหมือนกับโรคไวรัสจุดวงแหวน
ทำให้เกษตรกรหลายรายเข้าใจผิดว่ามะละกอที่ปลูกเป็นโรคจุดวงแหวน แต่ความจริงแล้วเกิดจากละอองของยาฆ่าหญ้า ทำให้ใบหงิกงอและชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกมะละกอจะต้องตระหนักเป็นพิเศษ ไม่ควรฉีดพ่นสารฆ่าหญ้าในแปลงปลูกมะละกอ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 สิงหาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=482&contentID=87846
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง