เมื่อวันที่ 7 กันยายน 53
เดิมทีมีปัญหาหนึ่งในการเก็บ "บล็อกโคลี่" สามารถเก็บได้เพียง 4 วันเท่านั้น ล่าสุดนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี "วราภรณ์ น้ำคำ-พรนิภา ตรีโพลา" ประสบผลสำเร็จจากการวิจัยและศึกษาการเก็บรักษาบล็อกโคลี่ด้วยวิธีดัดแปลงบรรยากาศ ทำให้อยู่ในสภาพที่สดได้นานถึง 18 วัน
วราภรณ์ และพรนิภา ต่างก็บอกว่า ที่เลือกศึกษาวิธีการเก็บรักษาบล็อกโคลี่สดหลังจากเก็บจากแปลงแล้ว ก็เพราะเห็นว่าบล็อกโคลี่เป็นผักที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงมาก จะเห็นได้ว่าช่วงในฤดูกาลจะมีบล็อกโคลี่ออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก ในขณะที่เป็นช่วงนอกฤดูกาลประเทศไทยก็ต้องนำเข้าบล็อกโคลี่เช่นกัน จึงคิดว่าน่าจะหากรรมวิธีให้พืชผักโดยเฉพาะบล็อกโคลี่ เก็บได้นานในสภาพที่บล็อกโคลี่ยังสดเหมือนเดิม จึงทดลองเก็บในสภาพดัดแปลงบรรยากาศที่จะเก็บบล็อกโคลี่ ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ง่ายและต้นทุนต่ำ จากนั้นได้มุ่งเน้นศึกษาการเก็บรักษาด้วยวิธีดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้จริงในเชิงการค้าต่อไป
การเก็บรักษาในสภาพดัดแปลงบรรยากาศที่ว่านี้ วราภรณ์ บอกว่าใช้วิธีลดปริมาณก๊าซออกซิเจนในที่เก็บบล็อกโคลี่ให้ต่ำลงและเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้น เพื่อลดอัตราการหายใจและการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของบล็อกโคลี่ โดยการเก็บรักษาบล็อกโคลี่ในสภาพดัดแปลงบรรยากาศจะทำพร้อมกับการใช้อุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์สูง ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการสูญเสียได้มากขึ้น
ผลจากการทดลองเก็บรักษาบล็อกโคลี่ในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยการบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเริ่มต้นที่ 8% เก็บไว้ในอุณหภูมิที่ 2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80% เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการเก็บรักษาบล็อกโคลี่ในสภาพอากาศปกติกับสภาพดัดแปลงบรรยากาศแล้วพบว่าในสภาพบรรยากาศปกติบล็อกโคลี่มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก 40.29% ขณะที่การเก็บรักษาในสภาพดัดแปลงบรรยากาศมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักแค่ 4.66% และอายุการเก็บรักษาสำหรับสภาพอากาศปกติเพียง 4.1 วัน แต่ในสภาพดัดแปลงบรรยากาศมีอายุการเก็บรักษาถึง 18 วัน นอกจากนี้ในสภาพอากาศปกติเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักสดเท่ากับ 61.42% แต่ส่วนในสภาพดัดแปลงบรรยากาศมีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักสดถึง 95%
ก็เป็นผลงานการศึกษาที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งในอนาคตน่าจะนำผลการศึกษาเหล่านี้ไปใช้เป็นแนวทางและเป็นประโยชน์แก่วงการค้า และประโชยน์ของคนทั่วไป หากผู้ใดที่สนใจต้องการนำเอาผลงานวิจัยดังกล่าวไปพัฒนาให้ได้ผลในทางปฏิบัติจริง สามารถสอบถามได้ที่ อ.วรินธร ยิ้มย่อง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว ที่หมายเลขโทร.08-1851-3382
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 กันยายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20100907/72346/%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%