แผนผนึกค้าข้าวไทย-เวียดนาม เส้นขนานที่บรรจบได้จริงหรือ
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 53
แผนผนึกค้าข้าวไทย-เวียดนาม เส้นขนานที่บรรจบได้จริงหรือ
ความพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือค้าข้าวของไทยกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก เป็นแนวทางที่ประเทศไทยมุ่งดำเนินมาอย่างยาวนาน เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพให้ราคาข้าวในประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่พี่น้องชาวนาไทยล่าสุด ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (เออีเอ็ม) ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นความพยายามอีกครั้งที่ฝ่ายไทยโดย พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ นำคณะข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เข้าหารือทวิภาคีกับ วู ฮุย ฮอง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของเวียดนาม เพื่อสานความร่วมมือการค้าข้าวให้เกิดร่วมกัน
การหารือครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก็เสร็จสิ้น โดยพรทิวาเปิดเผยว่า “เวียดนามได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของไทยในการยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก และพร้อมร่วมมือกันทุกแนวทาง ซึ่งต่อจากนี้ไปความร่วมมือจะชัดเจนมากขึ้น และไม่มีการขายข้าวตัดราคากัน โดยรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศไปหารือร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งจะได้ข้อสรุปทั้งหมดในปลายปีนี้ โดยความร่วมมือเป็นสัญญาณดีที่จะทำให้ราคาข้าวของทั้ง 2 ประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลดีต่อเกษตรกรของทั้ง 2 ประ เทศที่จะขายข้าวได้ในราคาที่ดีขึ้น”
ฝั่งรัฐบาลไทยคาดหวังว่า หากความร่วมมือการค้าข้าวระหว่างไทยกับเวียดนามเกิดขึ้นจริง จะถือเป็นก้าวสำคัญช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาข้าวตลาดโลก และส่งผลต่อเนื่องให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาขึ้น เนื่องจากไทยและเวียดนาม จัดเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ปีหนึ่งส่งออกรวมกันไม่ต่ำกว่า 15 ล้านตัน หรือมากกว่าครึ่งของปริมาณการค้าข้าวของโลกที่เฉลี่ยปีละ 30 ล้านตัน หากไม่แข่งขายตัดราคากันเอง เชื่อว่าจะสามารถกำหนดทิศทางข้าวโลกได้ เหมือนกับกลุ่มองค์กรประเทศส่งออกปิโตรเลียมที่รวมตัวกันค้าน้ำมันในนาม (โอเปค) หรือก่อนหน้านี้ที่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ร่วมมือกันค้าขายยางพาราจนราคาพุ่งไปเกิน กก.ละร้อยบาท
มนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเจรจาหนนี้ ขยายความถึงรายละเอียดกรอบความร่วมมือว่า หลังจากนี้ไประดับเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศจะหารือกันถึงทิศทางความร่วมมือ โดยไทยเป็นเจ้าภาพก่อนช่วงเดือน ต.ค.นี้ และหลังจากนั้นจะไปหารือที่เวียดนาม คาดจะได้บทสรุปในสิ้นปีนี้ ซึ่งไทยแสดงจุดยืนถึงประโยชน์ของความร่วมมือ และกำหนดแผนให้ชัดเจนเลยว่า จะร่วมมือผลักดันราคาข้าวในตลาดโลกยังไง เช่น การกำหนดเพดานราคาให้ข้าวชนิดไหนไม่ควรขายต่ำกว่าเพดาน เพราะการแข่งขันด้านราคา ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย
“ต่อไปจะขีดเส้นแดงไว้ว่า ข้าวชนิดนี้ แบบนี้ ราคาควรจะอยู่เท่านี้ ห้ามขายต่ำกว่าเส้นที่กำหนด ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้น ปัญหาการขายตัดราคากันจะไม่มีอีกต่อไป และราคาข้าวไทยกับเวียดนามก็จะต่างกัน ส่งผลดีให้ทั้ง 2 ประเทศ ไม่ถูกประเทศผู้ซื้อกดราคาเหมือนก่อน และขณะนี้น่ายินดีที่ช่องว่างราคาข้าวของไทยกับเวียดนามต่างกันไม่มากนัก จากเดิมที่เคยห่างกันเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือห่างแค่ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น อีกทั้งถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหลังจากทั้ง 2 ประเทศส่งสัญญาณความร่วมมือออกไป ราคาข้าวในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ด้านมุมมองผู้เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวภาคเอกชน มีความเห็นต่อกรอบความร่วมมือครั้งนี้ในทิศทางเดียวกัน โดย ประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เชื่อว่าการร่วมมือครั้งนี้ หากเกิดขึ้นจริงทำให้ชาวนาได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะถ้าราคาข้าวโลกสูง ไม่มีการขายตัดราคากันเอง จะทำให้ราคาข้าวในประเทศขยับขึ้นตามด้วย ซึ่งหมายความว่าชาวนาสามารถขายข้าวได้ราคาดีขึ้น แต่เรื่องนี้ก็ต้องรอลุ้นว่าเป็นจริงได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวมาแล้วหลายครั้งแต่ก็หายเงียบ อีกอย่างภาครัฐจำเป็นต้องช่วยดูแลชาวนาไม่ให้ถูกพ่อค้ากดราคาเอาเปรียบ ไม่เช่นนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร กลายเป็นพ่อค้าได้อย่างเดียว
ฝั่งโรงสีข้าว ชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เห็นว่า ความร่วมมือจะนำไปสู่การดูแลกลไกราคาข้าวให้มีเสถียรภาพ โดยแนวทางการดำเนินการ ควรเน้นการกำหนดราคา ภายใต้พื้นฐานการคำนวณต้นทุนการผลิตของชาวนา เพื่อไม่ให้ราคาที่ขายในท้องตลาดต้องขาดทุนเหมือนอดีต และที่ผ่านมาสมาคมโรงสีฯเอง ก็มีการประชุมสมาคมโรงสีข้าวแห่งอาเซียน เพื่อร่วมมือกันลดอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาการตัดราคาข้าวและเพิ่มความร่วมมือในการผลักดันกลุ่มผู้ผลิตข้าวอาเซียนให้เป็นที่ยอมรับของโลกด้วย
ด้าน ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า ที่ผ่านมาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวเวียดนาม ได้มีความร่วมมือในการค้าข้าวระหว่างภาคเอกชนกันมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและดูทิศทางตลาดข้าวร่วมกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นการกำหนดราคาร่วมกัน ดังนั้นการที่ภาครัฐจะหยิบยกการกำหนดราคาขั้นต่ำร่วมกันได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน และต้องอาศัยความพยายามในการเจรจาอย่างมาก
หลาย ๆ เสียงจากผู้เกี่ยวข้องแวดวงข้าว ต่างออกโรงสนับสนุนการเจรจาให้เกิดความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังแอบเคลือบแคลงใจว่า จะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด เพราะ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยและเวียดนาม เคยเปิดโต๊ะเจรจาคุยกันถึงเรื่องนี้
เพราะมีการหารือกันแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 48 ไทยเคยประชุมหารือกันในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างกระทรวงการค้าเวียดนามและกระทรวงพาณิชย์ไทยไปแล้ว 5 ครั้ง รวมถึงเกิดความร่วมมือระหว่าง ภาคเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย ต่อมาเดือน ก.ค. 49 เกิดความร่วมมือในด้านเอกชนทั้ง 2 ฝ่าย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกับสมาคมอาหารเวียดนามได้มีการประชุม แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกด้านข้าว การทำตลาด การผลิต การส่งออก
หลังจากนั้นเดือน พ.ย. 51 ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 2 ประเทศยังมีการประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทยและเวียดนาม เพื่อสานต่อความร่วมมือ โดยเห็นพ้องให้ประชุมกันบ่อยขึ้น และเสนอให้มีการหารือแนวทางพัฒนาคุณภาพ และกำหนดแผนปริมาณการผลิตข้าวของทั้ง 2 ประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก จนกระทั่งการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อปี 52 พรทิวา รมว. พาณิชย์ ก็เคยหารือ รมว.อุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม และเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเรื่องข้าวระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชน ชาวนา ผู้ส่งออก เดินทางไปเวียดนามเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือ
แต่ทุกครั้งผลสรุปที่แสดงออกด้วยการกระทำ ก็ยังเห็นเหมือนเดิม มีการขายข้าวตัดราคาร่ำไป อย่างเช่นเมื่อ 2 ปีก่อน ข้าว 5% เคยสูงอยู่ตันละ 700-800 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ตกลงมาเหลือ 350 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ดังนั้น หากจะร่วมกำหนดราคาด้วยกันจริง จากนี้ยังมีการบ้านอีกกองโตให้กระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้เจรจาเร่งสะสาง เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ไม่ใช่งานง่ายเลย เพราะว่าไปแล้วพื้นฐานของสินค้าข้าวของไทยกับเวียดนามมีจุดยืนที่แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเรื่องพันธุ์ข้าวที่ไม่เหมือนกัน หรือต้นทุนการเพาะปลูกที่เวียดนามต่ำกว่าไทยครึ่งต่อครึ่ง ของเขาไร่หนึ่ง 2,500-3,000 บาท แต่ไทยต้นทุน 5,000-6,000 บาท เวียดนามจึงไม่มีความจำเป็นที่จะขายข้าวราคาสูงแข่งกับไทย
ที่สำคัญนโยบายของรัฐบาลเองก็ยังมองกันคนละมุม ฝ่ายไทยมองข้าวเป็นสินค้าการเมือง ทุกรัฐบาลต้องการผลักดันให้ขายข้าวได้ราคาสูง ๆ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากชาวนา โดยไม่สนผู้บริโภคภายในจะลำบากอย่างไร แต่รัฐบาลเวียดนาม ต้องการให้ข้าวทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนเวียดนาม หากดันราคาส่งออกสูงไปจะทำให้คนเวียดนามกินข้าวแพงขึ้นด้วย และกระทบต่อเงินเฟ้อ กำลังซื้อผู้บริโภค รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว
ดังนั้นเหล่านี้เป็นโจทย์คำถาม ที่ฝ่ายเจรจาของไทยจะต้องตอบให้ได้ว่า จะหาความลงตัวให้ความแตกต่างของ 2 ประเทศมหาอำนาจค้าข้าวได้อย่างไร ไม่อย่างนั้น การเจรจาครั้งนี้ก็คงเป็นแค่ความพยายามแบบปากว่าตาขยิบกันคนละทีสองที เป็นเส้นขนานใกล้กัน แต่ยากจะบรรจบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 กันยายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=90606
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง