จิ้งหรีดมือถือ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 53
จิ้งหรีดมือถือ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรโครงการ “วิถีพอเพียงตามแนวพระราชดำริ” เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจ และแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยคณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมงานด้านการขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร สู่ราษฎรในพื้นที่หลายกิจกรรมด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่มีการพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่ คือ
จิ้งหรีดมือถือคือการนำจิ้งหรีดมาเลี้ยงในภาชนะสามารถนำพาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา เพื่อความสะดวกในการให้อาหาร และป้องกันการทำร้ายจากสัตว์ชนิดอื่น ที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องของสถานที่ในการเพาะเลี้ยง เพราะสามารถนำไปวางหรือแขวนไว้ ณ จุดใดของบ้านเรือนก็ได้
ภาชนะที่ใช้เพื่อการเลี้ยงจิ้งหรีดมือถือของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร นี้ ทำขึ้นมาแบบง่าย ๆ โดยการนำโครงเหล็กขนาดเล็กมาต่อเชื่อมเป็นตะกร้าทรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต สูง 1 ฟุต จากนั้นนำตาข่ายตาถี่ห่อทั้ง 5 ด้าน เป็นตาข่ายที่แสงแดดส่องผ่านได้ประมาณ 30-40% อากาศถ่ายเทได้สะดวกส่วนด้านบนทำเป็นฝาปิดที่สามารถปิดเปิดได้ ซึ่งใช้ตาข่ายขนาดความถี่เดียวกันปิด
ภายในวางเศษวัสดุอาทิ กาบมะพร้าวใช้วางสำหรับเป็นที่หลบซ่อนของจิ้งหรีด จะใช้กาบมะพร้าวแห้งประมาณ 2-4 ชิ้นเศษหญ้าแห้งเป็นวัสดุที่ใช้วางทับกาบมะพร้าว ใช้ทับหนาประมาณ 2 ซม. เพื่อป้องกันแสงสว่างและให้ความอบอุ่นแก่จิ้งหรีด ถาดน้ำและถาดอาหาร ควรเป็นถาดที่ไม่ลึกมาก เพื่อให้จิ้งหรีดได้ขึ้นกินอาหารและน้ำได้สะดวก จากนั้นก็นำไปแขวนไว้ในจุดต่าง ๆ ที่เหมาะสม เกษตรกรบางรายที่มีการเลี้ยงแบบมือถือจำนวนมาก ก็นำมาจัดวางบริเวณราวที่สร้างขึ้นมาข้างบ้านเป็นแถว ซึ่งไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ เช่นที่เลี้ยงกันในวงบ่อซีเมนต์ทั่วไป
จิ้งหรีดจัดเป็นแมลงที่สามารถนำมาบริโภคได้ และมีความปลอดภัย จิ้งหรีดออกหากินเวลากลางคืน พบเห็นตามธรรมชาติทั่วไป สามารถนำมาเลี้ยงขยายพันธุ์ได้ทุกพันธุ์ แต่พันธุ์ที่รู้จักกันแพร่หลายมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำและพันธุ์ทองแดง
จิ้งหรีดมีปากเป็นแบบปากกัด ขาคู่หลังใหญ่และแข็งแรง กระโดดเก่ง สามารถทำเสียงร้องโดยใช้ขอบของปีกคู่หน้าสีกัน ตามธรรมชาติส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในคันนา ทุ่งหญ้า สนามหญ้า และตามรอยแตกของดิน รูใต้ดิน หรือใต้กองเศษหญ้า โดยเฉพาะพันธุ์ทองดำนิยมเลี้ยงกันมาก เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วและเลี้ยงง่าย พฤติกรรมลักษณะพิเศษของจิ้งหรีดที่แตกต่างจากแมลงชนิดอื่นอย่างโดดเด่น และสังเกตได้ง่าย คือ การส่งเสียงร้องและการผสมพันธุ์ที่เพศเมียจะคร่อมบนเพศผู้เสมอ
วงจรชีวิตจิ้งหรีดมีระยะการเจริญเติบโต แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือระยะไข่ ไข่จิ้งหรีดจะมีสีเหลืองรวมกันเป็นกลุ่มในดิน ลักษณะยาวเรียวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ระยะไข่ดิน ลักษณะยาวเรียวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงฟักออกมาเป็นตัวอ่อน จิ้งหรีดวัยอ่อนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะมีลักษณะคล้ายมด และมีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ จะลอกคราบประมาณ 8 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนเมื่อโตขึ้นเริ่มมีปีก เรียกว่า ระยะใส่เสื้อกั๊ก มีระยะกั๊กเล็ก มีติ่งปีก และกั๊กใหญ่ มีติ่งปีกยาว ระยะตัวอ่อนพันธุ์จิ้งหรีดทองดำใช้เวลาประมาณ 36-40 วัน แต่ถ้าพันธุ์ทองแดงใช้เวลาประมาณ 46-50 วัน จึงจะลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย
ระยะตัวเต็มวัย เป็นระยะที่สามารถแยกเพศได้ชัดเจน โดยการสังเกตความแตกต่างของเพศผู้ เพศเมีย เพศผู้จะมีปีกคู่หน้าย่น สามารถทำให้เกิดเสียงขึ้นได้โดยใช้ปีกคู่หน้าถูกันจะทำให้เกิดเสียง เสียงที่จิ้งหรีดทำขึ้นเป็นการสื่อสารที่มีความหมายของจิ้งหรีด สำหรับเพศเมียจะมีปีกคู่หน้าเรียบ และมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลมคล้ายเข็มยื่นออกมาจากส่วนท้อง โดยทั่วไปจิ้งหรีดตัวเต็มวัยจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45-60 วัน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=43873
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง