คิดค้นปุ๋ยชีวภาพได้ผลดี ต่อถั่วลิสง อ้อย พริก มะละกอ
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 53
คิดค้นปุ๋ยชีวภาพได้ผลดี ต่อถั่วลิสง อ้อย พริก มะละกอ
ผศ.ดร.โสภณ บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึง โครงการศึกษาวิจัยเรื่องปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์กลุ่มดูดซับและละลายฟอสเฟต ว่าได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ตามดินทั่วไป โดยมีคุณสมบัติทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับพืช อาศัยเชื้อรานี้ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารในดินให้กับพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น มะละกอ อ้อย พริก และถั่วลิสง
ส่วนแบคทีเรียละลายฟอสเฟต (phosphate solubilizing bacteria, PSB) พบได้ทั่วไปในดินเช่นเดียวกันแต่มีคุณสมบัติในการผลิตกรดอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายฟอสเฟตที่ถูกตรึงอยู่ในดิน ในรูปที่ไม่ละลายน้ำ ทำให้ฟอสฟอรัสละลายออกมาสู่ดิน จากนั้นเชื้อราไมคอร์ไรซ่าจึงช่วยดูดซับฟอสฟอรัสให้กับพืชได้มากขึ้น จึงทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่สูงและให้ผลผลิตดี ในการศึกษาวิจัย ได้นำเชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มนี้ไปใช้กับการปลูกถั่วลิสงในสภาพแปลงปลูกทดลองเสร็จสมบูรณ์แล้ว และพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ กระบวนการทดลอง ผศ.ดร. โสภณ เปิดเผยว่า โดยปกติแล้ว ถ้าจะทำการทดลองในพืชชนิดใดนั้น ก็จะไปเก็บดินที่อยู่บริเวณรอบ ๆ รากของพืชนั้นมา จากนั้น ก็จะนำมาแยกสปอร์ของเชื้ออาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ด้วยวิธีการร่อนแบบเปียก คือ ร่อนผ่านน้ำในตะแกรง ถึง 4 ชั้น รูของตะแกรงมีขนาดเล็กแตกต่างกันในระดับไมโครเมตร นำสปอร์ที่ได้มาตรวจสอบคุณลักษณะ ว่าใช่เชื้อราอาบัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า หรือไม่ โดยส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอไมโครสโคป พร้อมทั้งคัดเลือกสปอร์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์นี้ และนำมาเพิ่มปริมาณ โดยใช้พืชอาศัย เช่น ข้าวโพด ที่มีระบบรากจำนวนมาก มีวงจรชีวิตสั้น ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก็สามารถเพิ่มปริมาณสปอร์ของเชื้อได้ดี
สำหรับแบคทีเรียละลายฟอสเฟต นำมาแยกโดยใช้อาหารจำเพาะที่ผสมไตรแคลเซียมฟอสเฟต แล้วเพาะเลี้ยงในอาหารเหลว และผสมกับพาหะซึ่งใช้ผงซีโอไลท์ ทำให้แห้งแล้วนำไปใช้ทดลองต่อไป และเมื่อได้เชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มในปริมาณที่เพียงพอแล้ว ก็จะนำไปทดสอบกับพืชเป้าหมาย ในขั้นแรกจะนำไปทดสอบในระดับกระถางก่อน โดยใช้ถั่วลิสงที่มีสายพันธุ์แตกต่างกัน มาทดสอบกับเชื้ออาบัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ร่วมกับแบคทีเรียละลายฟอสเฟตในแต่ละชนิด ซึ่งพบว่าเชื้ออาบัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ชนิดโกมัส คาร์ลัม เป็นเชื้อที่ดีที่สุด สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของถั่วลิสงได้ดีที่สุด ส่วนพันธุ์ของถั่วที่มีให้ผลการเจริญเติบโตที่ดีต่อเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ชนิด โกมัส คาร์ลัม นั้น คือพันธุ์ไทยนาน 9 ซึ่งตอนนี้ก็เป็นพันธุ์ถั่วที่เกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ปลูกโดยการคัดสายพันธุ์ถั่ว รวมถึงการทดลองในระดับแปลงได้รับความร่วมมือจาก รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์
จากการศึกษาพบว่า ต้นถั่วลิสงพันธุ์ไทยนาน 9 ที่ใส่เชื้อราอาบัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ชนิด โกมัส คาร์ลัม ร่วมกับแบคทีเรียละลายฟอสเฟตในการปลูกถั่วทำให้ถั่วลิสงมีเมล็ดโต น้ำหนักดี เมื่อเปรียบเทียบกับถั่วที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยชนิดใดเลย และได้ผลดีเทียบเท่ากับถั่วลิสงที่ใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ยังเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถดูดซับฟอสฟอรัสให้กับพืชได้ดี ส่วนแบคทีเรียละลายฟอสเฟต ช่วยละลายฟอสเฟตในรูปที่ไม่ละลายน้ำให้เชื้อราไมคอร์ไรซ่า นำไปสู่พืช ดังนั้นการใช้เชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่ม จึงเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของถั่วลิสง เนื่องจากการทำงานของเชื้อร่วมกันนี้และยังช่วยรักษาสภาพดินให้ร่วนซุยได้ดีอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจงานวิจัยดังกล่าวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่น โทรศัพท์ 0-4320-2377 หรือ
www.kku.ac.th/research
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 กันยายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=91491
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง