เมื่อวันที่ 15 กันยายน 53
ไส้เดือนดิน จัดอยู่ในอาณาจักรสัตว์ (Ani-malia) สำหรับวงศ์ของไส้เดือนดินนั้น นักวิทยาศาสตร์ ได้จัดจำแนกออกเป็น 21 วงศ์ และมีมากกว่า 8,000 สายพันธุ์ทั่วโลก
ลักษณะทั่วไปของไส้เดือนดิน ลำตัวเป็นปล้องๆ มีเยื่อ Cuticle คลุมผิวหนัง เพื่อใช้หายใจ มีหัวใจเทียม (pseudoheart) อยู่ระหว่างปล้องที่ 8-13 ส่วน ปล้องที่ 14, 15, 16 ใช้สร้างปลอกหุ้มไข่ (Cocoon) ซึ่งมีทั้งไข่และอสุจิในตัวเดียวกัน แต่ไม่สามารถผสมพันธุ์ในตัวเองได้
นอกจากนี้ ไส้เดือนดินยังมีเส้นเลือดสีแดง มีเส้นประสาทที่บริเวณท้อง (Ventral nerve cord) มีกึ๋น (Gizzard) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการย่อยอาหารและขับถ่ายของเสียออกทางรูผิวหนัง มักอาศัยอยู่ ตามดินชุ่มชื้นร่วนซุย หากจะค้นหาในเมืองใหญ่ๆที่เป็นป่าคอนกรีต จะต้องไปหาในสวนหย่อมที่มีใบไม้ทับถมอยู่มากๆ ตามพื้นดิน หรือตามกองขยะในตลาดและชุมชน
จังหวัดเชียงใหม่ได้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง ทาง ดร.อานัฐ ตันโช อาจารย์จากภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเข้าไส้เดือนแดง และ ไส้เดือนดินสายพันธุ์แลมบริคัส รูเบลลัส (Lumbricus rubellus) จาก ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทำการทดลองเลี้ยงเพื่อกำจัดเศษขยะ ณ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริอำเภอไชยปราการ (ศูนย์ เลี้ยงไส้เดือนแดง) ตั้งอยู่ที่ 175 ม.15 บ้านเชียงหมั้น ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
โดยมี นายมานะ บุญยมหา เทศมนตรีฝ่ายสาธารณสุข ของ อ.ไชยปราการ เป็นผู้ดำเนินการเลี้ยง บอกว่า ได้ใช้ไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศนี้ ในอัตรา 1 กิโลกรัม (จำนวน 970 ตัว) ต่อขยะ 2 กิโลกรัม พบว่า มีความสามารถ ในการย่อยสลายขยะได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน อีกทั้งยังย่อยขยะที่เป็นของแข็งอย่างเปลือกทุเรียนได้อีกด้วย
ต่อมาได้นำไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย ชื่อว่า ฟีเรท พีกัวน่า (Pheretima peguana) มาร่วมทำการย่อยขยะกลายเป็นสองแรงแข็งขัน สามารถทำให้ขยะลดลงไปอย่างมาก ล่าสุดทางศูนย์เลี้ยงไส้เดือนแดงต้องออกไปหาซื้อขยะในกิโลกรัมละ 20 สตางค์ มาให้ไส้เดือนทั้งสองสายพันธุ์ได้ย่อยขยะในแต่ละวัน
สำหรับศูนย์ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปี พ.ศ.2550 จึงประสบความสำเร็จสามารถเลี้ยงเองและดำเนินการขยายโรงเลี้ยงขนาดมาตรฐาน 1 โรง ในพื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน ล่าสุดปี พ.ศ.2553 ได้ขยายพื้นที่จาก อ.ไชยปราการ ไปที่ อ.ฝาง และ อ.แม่อาย โดยสร้างเป็นโรงเรือน 10 แห่ง ในพื้นที่ของโรงเรียนใน 3 อำเภอนี้
โดยได้รับการสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้เป็นการเรียนรู้ในระดับอำเภอ สามารถกำจัดเศษขยะต่อวันได้ถึง 1-1.5 ตัน โดยรับเศษขยะมาจากในพื้นที่อำเภอ ตามตลาด และร้านค้าโดยทั่วไป สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 3-4 ตันต่อเดือน จำหน่าย กิโลกรัมละ 25 บาท
และปัสสาวะไส้เดือนแดงสามารถจำหน่ายเป็นสารจุลินทรีย์ ในการกำจัดกลิ่นเหม็นตามห้องน้ำ หรือสถานที่ต่างๆได้อย่างดี ใครสนใจไปดูหรือไปฝึกเลี้ยงไส้เดือนดินทั้งสองสายพันธุ์นี้ กริ๊งกร๊าง หามานะที่ 08-6196-4361 ในเวลาที่เหมาะสม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 กันยายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/110865