เขาหินซ้อน 'ต้นแบบ' พัฒนาเกษตร
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 53
เขาหินซ้อน 'ต้นแบบ' พัฒนาเกษตร
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ 1,240 ไร่ และพื้นที่โครงการพัฒนาส่วนพระองค์เขาหินซ้อน เนื้อที่ 655 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์ฯ 1,895 ไร่ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ สถาน “ศึกษา”และให้การ “พัฒนา” ไปพร้อมกัน กล่าวคือ มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทางหรือวิธีการพัฒนาถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรสาขาต่าง ๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเพื่อการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ให้ราษฎรได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง เมื่อศึกษาทดลองได้ผลแล้วก็จะนำไปขยายผลใน ลักษณะ “การพัฒนา” สู่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณ หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และขยายผลเป็นวงกว้างออกไป
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น 1 ใน 6 โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาในลักษณะเป็นศูนย์รวมที่จะใช้ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ตลอดจนแสวงหาแนวทางพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และการประกอบอาชีพของราษฎรในพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง เมื่อได้ผลก็จะพัฒนาขยายผลสู่ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
เดิมพื้นที่บริเวณที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีสภาพเสื่อมโทรมดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทรายมีการชะล้างพังทลายของดินสูง และมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ผลผลิตพืชที่ได้ต่ำ เกษตรกรไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราช ทานพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพระราชทานแนวทางไว้ 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาให้เป็นศูนย์ตัวอย่างด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์แบบทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาที่ดิน การวางแผนปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้ามาชม ศึกษา ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมและนำไปปฏิบัติตามได้ เพื่อพัฒนาอาชีพและพื้นที่ทำกินของตนให้เพิ่มผลผลิตมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริม 2.พัฒนาพื้นที่รอบนอกศูนย์ศึกษาฯ บริเวณลุ่มน้ำโจนให้มีความเจริญขึ้น เป็นตัวอย่างแก่การพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป 3.ให้นำวิธีการที่ได้ผลมาแล้วถูกต้อง ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดมาดำเนินการ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้สนองพระบรมราโชบายในการบริหารจัดการองค์กรตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งหวังที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งอเนกประสงค์ของผู้คนในทุกด้าน โดยให้ศูนย์ฯ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตและเป็นศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ คือมีทั้งสาระความรู้และสามารถเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้ในคราวเดียวกัน ที่บุคคลทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้
ตลอด 3 ทศวรรษแห่งการพัฒนา สภาพพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่การเกษตรบริเวณโดยรอบลุ่มน้ำโจนได้รับการพัฒนาจากสภาพ “ป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว” ได้เปลี่ยนฟื้นคืนพื้นที่สีเขียวคืนความชุ่มชื้นด้วยระบบวนเกษตร เกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมันสำปะหลังอย่างเช่นในอดีต โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบครัวมีความสุขแบบพอเพียง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 กันยายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=91736
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง