เมื่อวันที่ 15 กันยายน 53
นายอนันต์ ลิลา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงนี้ได้เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในบางจังหวัด เช่น ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร พิษณุโลก ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจติดตามสถานการณ์และรายงานเพื่อรายงานให้กรมฯ รับทราบข้อมูลทุกวันพร้อมกันนี้ได้ให้ศูนย์บริหารศัตรูพืชดำเนินการสำรวจ ปริมาณเชื้อราบิวเวอร์เรีย นอกจากนี้ได้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับจังหวัดเพื่อสนับสนุนเชื้อราบิวเวอร์เรียพร้อมหัวเชื้อ และให้จังหวัดจัดหน่วยเฉพาะกิจและกำหนดแผนที่ชัดเจนในการเข้าไปถ่ายทอดความรู้การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยวิธีผสมผสาน
ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการป้องกันควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำว่า สำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยให้ส่งเสริมการใช้แสงไฟล่อเพื่อตัดวงจรชีวิต ก่อนที่จะวางไข่และฟักออกเป็นตัวอ่อน และให้ใช้วิธีการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวอ่อนโดยวิธีต่างๆ เช่น ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียฉีดพ่นระบายน้ำออก-เข้าแปลงนาเพื่อปรับสภาพไม่ให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นอกจากนี้เกษตรกรต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เช่น การใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยที่ถูกต้อง การใช้สารเคมีที่ถูกต้องตามคำแนะนำของทางราชการ การใช้พันธุ์ข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทดแทนพันธุ์ข้าวอ่อนแอเพื่อลด ความเสี่ยงเมื่อเกิดปัญหาการระบาด
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จังหวัดใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นฐานในการผลิตขยายเชื้อราบิวเวอร์เรียพร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้และแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ๆ ประสบปัญหาการระบาด และระมัดระวังการใช้สารเคมีในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวโดยเฉพาะสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อศัตรูธรรมชาติ ทั้งนี้ขอแนะนำให้ใช้สารเคมีที่ยับยั้งการลอกคราบซึ่งเป็นอันตรายน้อยต่อศัตรูธรรมชาติ ส่วนกรณีที่มีการประกาศภัยพิบัติเนื่องจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ขอให้สนับสนุนการจัดสรรงบประมาณ มาซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตขยายจุลินทรีย์ใช้ฉีดพ่นเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และอุปกรณ์ชุดแสงไฟล่อสำหรับใช้เป็นเครื่องมือล่อเพลี้ยกระโดสีน้ำตาลและจับเพลี้ยมาทำลาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 15 กันยายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=227895