เมื่อวันที่ 20 กันยายน 53
นายอนันต์ ลิลา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตผลไม้เมืองร้อนโดยเฉพาะมังคุดและมะม่วง ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยสถานการณ์การผลิตมังคุดและมะม่วงส่งออกพบว่า มังคุดซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชินีผลไม้ มีพื้นที่ให้ผลผลิต 399,438 ไร่ ผลผลิตรวม 270,554 ตัน ส่งออกต่างประเทศ 111,300 ตัน มีตลาดที่น่าสนใจ อาทิ จีน ฮ่องกง เวียดนาม และนับวันจะมีปริมาณการรับซื้อเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผลไม้จากไทยมีคุณภาพและรสชาติที่ดีมาก
ขณะที่มะม่วงมีพื้นที่ให้ผลผลิตประมาณ 1,925,164ไร่ ผลผลิตรวม 2,469,814 ตัน ส่งออกต่างประเทศ 26,098.27 ตัน แยกเป็น ญี่ปุ่น 2,754.96 ตัน ประเทศอื่นๆ 23,343.31 ตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เกษตรกรไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าคุณภาพสู่ตลาดญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่สนใจนำเข้ามะม่วงไม่ได้มีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น มะม่วงยังเป็นผลไม้ที่ส่งขายได้มากทั้ง จีน มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลี ออสเตรเลีย อเมริกา อย่างไรก็ตามมะม่วงก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งผลผลิตมะม่วงของทั้ง 2 ประเทศเป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคแล้ว ในขณะที่มะม่วงไทยยังเป็นที่รู้จักในวงจำกัด จึงจำเป็นต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
นายอนันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ได้รวมกลุ่มเป็นสมาพันธ์ผู้ผลิตมะม่วงแห่งประเทศ ไทย เพื่อจัดการผลผลิตให้สามารถส่งออกได้ตลอดปี ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2552 -2553 เป็นต้นมา โดยเฉพาะสำหรับการส่งออกสู่ญี่ปุ่น ขณะที่กระทรวงเกษตรฯได้จัดการให้มีการเกษตรแบบมีสัญญา สำหรับการส่งออกมะม่วงระหว่างเกษตรกรกับผู้ส่งออกกว่า 20 ราย เพื่อให้มีผลผลิตที่เพียงพอ ได้คุณภาพมาตรฐาน และสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร มีการดำเนินมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีในมะม่วงให้เป็นไปตามมาตรฐานของญี่ปุ่น โดยการร่วมมือการควบคุมการใช้สารเคมีและการตกค้างระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ควบคุมให้แหล่งผลิตเป็นสวน GAP มีการตรวจติดตามการใช้ และการตกค้างของสารเคมี ตั้งแต่สวนจนถึงการส่งออกทุกรุ่นมีการตรวจสารเคมีตกค้าง เพื่อให้ผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐานและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 20 กันยายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=228624