หัวเชื้อรามายคอร์ไรซ่า เพิ่มความแข็งแรงให้พืช
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 53
หัวเชื้อรามายคอร์ไรซ่า เพิ่มความแข็งแรงให้พืช
ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพราะกลัวอันตรายสารตกค้างจากสารเคมีและยาปราบศัตรูพืช ที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางการแพทย์ การเกษตรและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นผลตกค้างในดิน แหล่งน้ำและผลิตผล ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ และค่าใช้จ่าย ในการซื้อผลผลิตที่มีราคาแพง การจัดการเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินและการเจริญเติบโตที่ดีของพืชอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ
วิธีบำรุงดินที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้หลายวิธี และสามารถช่วยลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน แต่การเพิ่มความแข็งแรงให้กับพืชโดยใช้จุลินทรีย์กลุ่มไรโซเบียมและหัวเชื้อจากรามายคอร์ไรซ่า รวมทั้งการใช้จุลินทรีย์สร้างสารเร่งการเจริญของพืช ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการทำความเข้าใจโดยเฉพาะกลไกของความสัมพันธ์ของพืชและจุลินทรีย์ซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมชาติแต่ถูกทำลายด้วยวิธีการทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้การตอบสนองของพืชต่อมายคอร์ไรซ่าก็มีความแตกต่างกันทั้งชนิดของพืชเองและชนิดของมายคอร์ไรซ่า
ศ.ดร.สายสมร ลำยอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีการนำเข้ามายคอร์ไรซ่ามาจำหน่ายหลายบริษัท แต่ก็มีราคาแพงมาก เช่น เอนโดมายคอร์ไรซ่าที่ใช้กับกล้าส้ม กล้าสน และพืชผัก ราคากิโลกรัมละ 1,200 บาท จากการสำรวจพบว่ามีความต้องการใช้มายคอร์ไรซ่ากับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องราคาและไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์มายคอร์ไรซ่าที่แน่นอนได้ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาการนำไปใช้ในทางปฏิบัติต่อไป
ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ศ.ดร.สายสมรและคณะ ในโครงการ “
การพัฒนามายคอร์ไรซ่าเพื่อเกษตรอินทรีย์” โดยคณะวิจัยได้สำรวจความหลากหลายของเชื้อราอาร์คูบัสคูลาร์มายคอร์ไรซ่ากับสบู่ดำในพื้นที่ 6 จังหวัดของไทย รวมทั้งศึกษาเชื้อดังกล่าวกับกาแฟอราบิก้าในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พบว่าพืชมีการเจริญเติบโตดี นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณสปอร์ในกระถางโดยใช้ดินเป็นหัวเชื้อ มีข้าวโพด ข้าวฟ่าง และดาวเรืองเป็นพืชอาศัย พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณสปอร์ได้ดี
คณะวิจัยยังได้ตรวจเปอร์เซ็นต์การเข้ารากพืชของมายคอร์ไรซ่า 5 สกุล ในถั่วพุ่ม ข้าวโพด ลูกเดือย ข้าวไร่ ข้าวฟ่าง และต้นปะดะ พบว่ามีการติดเชื้อในรากสูงยกเว้นข้าวไร่ อีกทั้งได้สำรวจความหลากหลายของเชื้อดังกล่าวและความสัมพันธ์ที่ มีต่อพืชท้องถิ่นในป่าเขตร้อนของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพและดอยปุย พบว่าพืชพื้นเมือง 24 ชนิด มีความสัมพันธ์กับเชื้อดังกล่าว และเชื้อบางชนิดสามารถอาศัยร่วมกับพืชได้หลายชนิด
ศ.ดร.สายสมรกล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจเชื้อรามายคอร์ไรซ่า และขอให้คณะวิจัยเพิ่มปริมาณการผลิตหัวเชื้อเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิต ปุ๋ยชีวภาพต่อไป นอกจาก นี้ยังมีอีกหลายรายติดต่อให้คณะวิจัยผลิต หัวเชื้อและถ่ายทอดเทคโนโลยีวิธีปลูก เชื้อเพื่อนำไปเพาะต้นกล้า โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ สัก ยางพารา กฤษณา รวมทั้งผลิตหัวเชื้อเพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรต่อไป จึงนับเป็นงานที่ท้าทาย อย่างยิ่ง
ผู้สนใจเชื้อราอาร์บัสคูลาร์มายคอร์ไรซ่าในพืช ติดต่อสอบถามได้ที่ ศ.ดร.สายสมร ลำยอง ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 โทร. 0-5394-1947 ต่อ 144 หรือ 0-5394-3346-8 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 กันยายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=659&contentID=92806
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง