เมื่อเกษตรไทยจะเป็นศูนย์กลางอาเซียน
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 53
เมื่อเกษตรไทยจะเป็นศูนย์กลางอาเซียน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางมาตรการและกำหนดท่าทีเกี่ยวกับการเกษตรต่างประเทศ และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนของโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาพรวมในการพัฒนาการเกษตรของไทย
สำหรับแนวทางในการพัฒนาด้านการเกษตรต่างประเทศในสถานการณ์สำคัญที่อาจส่งผล กระทบต่อภาคเกษตรของไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ด้านการค้าสินค้าเกษตร ประกอบด้วยการดำเนินการ 2 ส่วนหลัก คือ การเจรจาสินค้าเกษตร และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตร
2. ด้านการลงทุนภาคการเกษตร ประกอบด้วยมาตรการตั้งรับการลงทุนด้านการเกษตรจากต่างประเทศ และมาตรการเชิงรุกในการไปลงทุนต่างประเทศ
3. ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ มีการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับต่างประเทศ
4. ด้านการบริหารจัดการ จะมีการจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการค้าการลงทุน และความร่วมมือกับต่างประเทศซึ่งมีอยู่แล้วให้สามารถติดตามงานในภาพรวมได้อย่างบูรณาการ
นับเป็นสิ่งที่ดีที่การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าจะมองข้ามสำหรับแนวทางในการดำเนินของกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ต่อการช่วยเหลือเกษตรกรไทยในทุกระดับ นั่นก็คือเรื่องของราคาผลผลิตในทุกชนิดพืชและทุกชนิดผลิตภัณฑ์ ว่าทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกร ในฐานะผู้ผลิตสามารถเป็นผู้กำหนดราคาขายได้ด้วยตนเอง แทนการกำหนดราคาจากผู้ซื้อหรือพ่อค้าคนกลาง
ซึ่งประเด็นนี้แน่นอนว่าหากมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง กระทรวงเกษตรฯ สามารถดำเนินการได้ทันทีด้วยมีปรากฏขึ้นมาแล้วสำหรับการเป็นผู้กำหนดราคาโดยผู้ผลิตในฤดูการผลิตปี 2553 นั้นก็คือลำไยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นคนกลางในการเดินทางออกไปเจรจากับกลุ่มผู้ค้าต่างประเทศพร้อมเชิญชวนให้เดินทางเข้ามาเจรจาการค้ากับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ด้วยตนเอง จากนั้นกำหนดราคาและปริมาณการซื้อขาย โดยให้สหกรณ์การเกษตรเป็นผู้รวบรวมผลผลิตตามปริมาณในการสั่งซื้อจากเกษตรกร สมาชิก
จากการดำเนินการดังกล่าวปรากฏว่าผลผลิตลำไยในปี พ.ศ. 2553 ราคาที่เกษตรกรได้รับอยู่ในอัตราที่สูงกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา อันยังมาซึ่งรายได้ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยของเกษตรกรผู้ทำการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีรายได้เต็มที่การดูแลขบวนการผลิตก็ย่อมที่จะดีตามมาในฤดูกาลผลิตต่อ ๆ ไป ซึ่งก็หมายความว่า ผลผลิตภาคการเกษตรของไทยก็ย่อมที่จะได้รับการพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น
ฉะนั้นการดำเนินแนวทางเพื่อให้เกษตรกรผู้ผลิตสามารถเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าของตนเองได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริงสำหรับเกษตรกรไทยในวันนี้ที่แนวทางในการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จักได้นำมากำหนดเป็นการเพิ่มเติมอีก สักหนึ่งประเด็นอย่างเป็นรูปธรรมในมาตรการการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็จะเป็นการดีต่อวงการเกษตรไทยในฐานะศูนย์กลางของอาเซียนไม่น้อยทีเดียว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 กันยายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=93482
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง