เมื่อวันที่ 27 กันยายน 53
เมื่อกลุ่มผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับเกษตรที่เป็น "อินทรีย์" มากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตทั้งที่เป็นเกษตรกรมืออาชีพ และภาคเอกชนผู้ส่งออกต่างหันหาวิธีแนวทางการผลิตที่ปลอดสาร ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม โดยที่พืชมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง
ฉะนี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ศ.ดร.สายสมร ลำยอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการวิจัย "การพัฒนามายคอร์ไรซาเพื่อเกษตรอินทรีย์" ขึ้น โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนทุน
สำหรับ "เชื้อรามายคอร์ไรซา" มีประโยชน์ต่อการช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคทางระบบรากของกล้าไม้ และต้นไม้ ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวของราก ทำให้มีประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำ อาหารมากกว่าปกติ ช่วยทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดินดีขึ้น ช่วยเปลี่ยนแปลงแร่ธาตุอาหารในดิน ช่วยทำให้ระบบรากของต้นไม้ มีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ความแห้งแล้ง ร้อน หนาว และสารพิษ ความเป็นกรดด่างที่มากหรือน้อยเกินไปในดิน
ศ.ดร.สายสมร บอกว่า วิธีบำรุงดินที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้หลายวิธี อย่างการใช้จุลินทรีย์กลุ่มไรโซเบียมและหัวเชื้อจากรามายคอร์ไรซา ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์อย่างยั่งยืน ต้นพืชยังมีความแข็งแรง ซึ่งยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรมากนัก สาเหตุเป็นเพราะยังขาดความเข้าใจกลไกความสัมพันธ์ การทำหน้าที่ของพืชกับจุลินทรีย์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ แต่ถูกทำลายไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากแนวทางการผลิตที่ผ่านมา
"ที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนหลายรายสั่งนำเข้า "มายคอร์ไรซา" เพื่อมาใช้บำรุงกล้าส้ม กล้าสน และพืชผัก โดยเชื้อดังกล่าวสนนราคาซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,200 บาท ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าเชื้อดังกล่าวสามารถนำมาใช้กับพืชเศรษฐกิจได้หลายชนิด แต่บ้านเรายังติดปัญหาทั้งเรื่องราคาและการตรวจสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การวิจัยเพื่อใช้เป็นพื้นฐานพัฒนาการนำไปใช้ในทางปฏิบัติจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ"
ในส่วนของแนวทางการวิจัย ศ.ดร.สายสมรบอกว่า เริ่มแรกทีมงานได้ออกสำรวจเพื่อเก็บความหลากหลายของเชื้อราฯ ซึ่งพบว่ามีมากในสบู่ดำ และพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟอราบิก้าแถบจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พร้อมทั้งเก็บหัวเชื้อดังกล่าวเพื่อมาเพิ่มปริมาณสปอร์ ด้วยการใช้ดินเป็นหัวเชื้อ ในกระถางข้าวโพด ข้าวฟ่าง และดาวเรืองเป็นพืชอาศัย ร่วมกับถั่วพุ่ม ข้าวโพด ลูกเดือย ข้าวไร่ ข้าวฟ่าง และต้นปะดะ ในเวลาที่ทีมงานกำหนดไว้
ทั้งนี้ การผลิตหัวเชื้อด้วยวิธีที่ทีมวิจัยคิดค้นในเวลาที่เหมาะสมพบว่า ที่รากมีการผลิตเชื้อสูงในกลุ่มพืชทดลองทุกชนิด ยกเว้นข้าวไร่ และเพื่อเป็นการเพิ่มความหลากหลาย ทีมวิจัยยังได้ทำการสำรวจความหลากหลายของเชื้อดังกล่าวที่มีต่อพืชท้องถิ่นในป่าเขตร้อนของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ ดอยปุย พบว่าสามารถอาศัยร่วมกับพืชได้หลายชนิด
การวิจัยดังกล่าวนอกจากเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อรามายคอร์ไรซาจากต่างประเทศ และคาดว่าในอนาคตไทยเราจะสามารถผลิตเชื้อดังกล่าวส่งออกให้กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เปลี่ยนแนวทางมาทำเกษตรอินทรีย์ได้อีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร. 0-5394-1947 ต่อ 144, 0-5394-3346-8 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 27 กันยายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/114194