เมื่อวันที่ 28 กันยายน 53
เวลานี้หันไปทางไหนเทคโนโลยีก็แทรกแซงเข้ามาในทุกมิติของชีวิต ไม่เว้นแม้แต่เรื่องอาหารการกินที่เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยอาหารตัดแต่งพันธุกรรมทั้งพืชและเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาที่เปิดรับเรื่องนี้ด้วยความยินดี แม้ว่าโลกจะมีอาหารอุดมสมบูรณ์มากขึ้นจากการได้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในเรื่องการผลิต แต่อีกหลายมุมของโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกที่สามยังคงหิวโหยและขาดแคลน
นักวิทยาศาสตร์ประเทศอินเดียเห็นความจำเป็นที่จะต้องผลิตอาหารที่มีคุณภาพเพื่อมาต่อสู้กับความหิวโหยของเพื่อนร่วมโลก จึงเลือก "หัวมันฝรั่ง" ซึ่งเป็นพืชเพาะปลูกง่ายในถิ่นทุรกันดารมาใช้ตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็ม) ประสบความสำเร็จในการสร้างมันฝรั่งที่อัดแน่นด้วยสารอาหารเป็น 'ซูเปอร์มันฝรั่ง'
มั่นฝรั่งมีปลูกอยู่ใน 125 ประเทศทั่วโลก ประชากรโลกกว่าพันล้านคนบริโภคมันฝรั่งทุกวัน มันฝรั่งทั่วไปมีโปรตีนต่ำ มีเพียง 2 กรัมต่อมันฝรั่ง 100 กรัม และมีน้ำ 78 กรัม แต่โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาร่างกาย
ดร.สุภรา จักราภารตี สังกัดสถาบันวิจัยพันธุกรรมพืชในกรุงนิวเดลีของอินเดีย ผู้นำการพัฒนาซูเปอร์มันฝรั่ง กล่าวว่า มันฝรั่งจีเอ็มอุดม ด้วยโปรตีน มีโปรตีนสูงกว่าหัวมันฝรั่งธรรมชาติถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายตัวในปริมาณเข้มข้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ น่าจะช่วยหลายประเทศที่อดอยากรอดพ้นจากความหิวโหยได้
งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารความก้าวหน้าด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า นักวิจัยได้แยกพันธุกรรม หรือ ยีน ที่ผลิตโปรตีนในดอกบานไม่รู้โรย ชื่อ AmA1 แล้วนำไปถ่ายใส่มันฝรั่ง ยีนตัวนี้ยังดูแลเรื่องกรดอะมิโนจำเป็นหลายตัว เช่น ไลซีนและเมไธโอนีน ซึ่งถ้าเด็กขาดไลซีนจะทำให้สมองไม่พัฒนา ซูเปอร์มันฝรั่งเมื่อนำไปทำขนมขบเคี้ยวก็จะยิ่งทำให้เด็กที่ชอบกินขนมได้ ประโยชน์เพิ่มขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 28 กันยายน 2553
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNVEk0TURrMU13PT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBeE1DMHdPUzB5T0E9PQ==