เมื่อวันที่ 28 กันยายน 53
นักวิจัย มข.ค้นพบเชื้อรามีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยดูดซับและละลายฟอสเฟตในดินที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงปุ๋ยเคมี ที่นอกจากช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชเศรษฐกิจ อย่างถั่วลิสง อ้อย พริก มะละกอ เห็นผลอย่างชัดเจนแล้ว ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ผศ.ดร.โสภณ บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงโครงการศึกษาวิจัยเรื่องปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์กลุ่มดูดซับและละลายฟอสเฟต ว่าได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ตามดินทั่วไป โดยมีคุณสมบัติทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับพืช อาศัย
"เชื้อรานี้ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารในดินให้พืชเศรษฐกิจ เช่น มะละกอ อ้อย พริก และถั่วลิสง ส่วนแบคทีเรียละลายฟอสเฟต (phosphate solubilizing bacteria, PSB) ซึ่งพบในดินเช่นเดียวกัน มีคุณสมบัติผลิตกรดอินทรีย์ที่ย่อยสลายฟอสฟอรัสฟอสเฟตที่ถูกตรึงอยู่ในดินใน รูปไม่ละลายน้ำ ทำให้ละลายสู่ดิน จากนั้นเชื้อราไมคอร์ไรซาจะช่วยดูดซับฟอสฟอรัสให้แก่พืช ทำให้พืชโตเร็ว ให้ผลผลิตดี โดยเราได้นำเชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มนี้ไปใช้ปลูกถั่วลิสงในแปลงทดลอง ได้ผลน่าพอใจ" ผศ.ดร.โสภณอธิบายการทำงาน
ทั้งนี้ กระบวนการทดลอง ผศ.ดร.โสภณแจงว่า ปกติแล้ว ถ้าจะทดลองในพืชชนิดใดก็จะไปเก็บดินที่อยู่รอบๆ รากพืชนั้นมา จากนั้นนำมาแยกสปอร์ของเชื้ออาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา ด้วยการร่อนแบบเปียก คือร่อนผ่านน้ำในตะแกรง 4 ชั้น รูตะแกรง มีขนาดเล็กต่างกันในระดับไมโครเมตร นำสปอร์ที่ได้มาตรวจสอบคุณลักษณะว่าใช่เชื้อราดังกล่าวหรือไม่ โดยส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ แบบสเตอริโอไมโครสโคป พร้อมคัดเลือกสปอร์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ นำมาเพิ่มปริมาณ โดยใช้ข้าวโพดพืชที่มีระบบรากมาก มีวงชีวิตสั้น ใช้เวลา 3 เดือน ก็เพิ่มปริมาณสปอร์เชื้อได้
ส่วนแบคทีเรียละลายฟอสเฟต นำมาแยกโดยใช้อาหารจำเพาะ คือไตรแคลเซียมฟอสเฟต แล้วเพาะเลี้ยงในอาหารเหลว ผสมกับพาหะซึ่งใช้ผงซีโอไลท์ทำให้แห้งแล้วนำไปใช้ทดลองต่อไป ทั้งนี้ เมื่อได้เชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มในปริมาณที่เพียงพอแล้ว ก็นำไปทดสอบกับพืชเป้าหมาย
"ขั้นแรกนำไปทดสอบระดับกระถางก่อน โดยใช้ถั่วลิสงที่มีพันธุ์แตกต่างกัน ทดสอบกับเชื้อไมคอร์ไรซา ร่วมกับแบคทีเรียละลายฟอสเฟตในแต่ละชนิด ซึ่งพบว่าเชื้อไมคอร์ไรซา ชนิดโกมัส คาร์ลัม เป็นเชื้อที่ดีที่สุด สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของถั่วลิสงได้ดีที่สุด ส่วนพันธุ์ของถั่ว ที่ให้ผลการเจริญเติบโตที่ดีต่อเชื้อชนิดโกมัส คาร์ลัม คือพันธุ์ไทยนาน 9 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ปลูก" ผศ.ดร.โสภณกล่าว
จากการศึกษาพบว่า ต้นถั่วลิสงพันธุ์ไทยนาน 9 ที่ใส่เชื้อราไมคลอไรซา ชนิดโกมัส คาร์ลัม ร่วมกับแบคทีเรียละลายฟอสเฟตทำให้ ถั่วลิสงมีเมล็ดโต น้ำหนักดี เมื่อเทียบกับถั่วที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยชนิดใดเลย และได้ผลดีเท่ากับถั่วลิสงที่ใส่ปุ๋ยเคมี ดังนั้นการใช้เชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่ม จึงเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของถั่วลิสง เนื่องจากการทำงานของเชื้อร่วมกันนี้ และยังช่วยรักษาสภาพดินให้ร่วนซุยได้ดีอีกด้วย
ผศ.ดร.โสภณเสริมถึงแนวทางการพัฒนาว่า ต้องการพัฒนาเชื้อรานี้และแบคทีเรียละลายฟอสเฟสให้เป็นปุ๋ยชีวภาพที่มีคุณภาพสูง โดยจะพัฒนาเรื่องกระบวนการผลิต ซึ่งกำลังทดลองใช้กับอ้อย สำหรับผู้สนใจงานวิจัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาจุลชีววิทยา โทร.0-4320-2377
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 กันยายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20100928/74547/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B8%