เมื่อวันที่ 29 กันยายน 53
พื้นที่จังหวัดสกลนครเป็นร่องฝน ในแต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนถึง 1,200 มม. พื้นที่จึงเต็มไปด้วยป่าเต็งรัง และป่าโปร่ง ชาวสกลนครไม่อดอยากอาหารการกิน เก็บผัก เก็บพืช เห็ด ล่าสัตว์ ก็อยู่กันได้อย่างสบาย ชาวบ้านที่ขยันหาของป่า ก็สามารถนำมาขายหาเงินสด ไปซื้อสินค้าอย่างอื่นได้ไม่ยาก เราจึงเห็นชาวบ้านนำของป่ามาวางขายสองข้างทางในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครมากมาย
ในปี 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีราษฎรถวายฎีกาเพื่อขอความช่วย เหลือ ในการทำอาชีพต่าง ๆ พระองค์ได้พระราชทาน ความช่วยเหลือให้จัดหาพื้นที่เพื่อสร้างฟาร์มตัวอย่างขึ้น ณ บริเวณหนองหมากเฒ่า บ้านนาดำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร ชื่อ “ฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” โดยมี นายอนันตสิทธิ์ ซามาตร์ ผู้ดูแลพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ
ใช้พื้นที่ราชพัสดุ 100 ไร่ และพระราชทานซื้อเพิ่มให้อีก 50 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองสกลนคร 5 กม. ในเส้นทางมุ่งหน้ามา พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ได้พระราชทานเงินทุนเบื้องต้น 7 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นแหล่งวิชาการที่ถ่ายทอดไปสู่ชาวบ้าน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย ทำให้ชาวบ้านที่ว่างงาน ได้เข้ามาฝึกอาชีพ เรียนรู้การทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ไม่ใช่แบบเชิงเดี่ยวที่ทำกันส่วนมาก และที่สำคัญชาวบ้านไม่ต้องเข้าป่าหาของป่ามาขาย ซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย แต่สามารถเข้ามารับจ้างทำงานในฟาร์มตัวอย่าง มีรายได้วันละร้อยกว่าบาท ได้ทั้งเงิน และยังได้ความรู้ติดตัวไปประกอบอาชีพในพื้นที่ของตัวเอง
นายทองสี สายโรจน์ ผู้จัดการฟาร์มฯ เปิดเผยว่า ทางโครงการฯ ได้จ้างชาวบ้านเข้ามาทำงานกว่าร้อยคน โดยมอบพื้นที่ให้ดูแลคนละ 1 งาน ให้ปลูกพืชผักสวนผสม ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามเผาหญ้า หรือกิ่งไม้ทุกชนิด พืชผักทุกชนิดล้วน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตเป็นระยะเวลาที่ต่างกัน ทำให้เกษตรกรได้ขายผลผลิตทุกวันพร้อมทั้งมีความรู้ทางเกษตร สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสม มาผลิตเพื่อเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดสารพิษ ด้วยการแสดงขั้นตอน และวิธีการในการนำเทคโนโลยีทันสมัย มาปรับใช้ให้เหมาะสม และเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ และที่สำคัญเป็นแหล่งสาธิต เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมแก่ผู้สนใจ ซึ่งรวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารด้วย
ในวัตถุประสงค์ที่ 2 เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารหรือ ธนาคารอาหารนั้น มีทั้งอาหารสด ที่ผลิตจากฟาร์ม มี เป็ด ไก่ ปลา เห็ด พืชผัก ผลไม้และอื่น ๆ โดยแยกประเภทตามการผลิตแต่ละชนิดของฟาร์ม ผลิตเป็นอาหารชุด โดยได้นำผลผลิตที่ปลูก และเลี้ยงได้ มาเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ด้วยการจัดเป็นชุดอาหารพร้อมปรุงต่าง ๆ อาทิ ชุดต้มยำ ชุดลาบ ชุดแกงส้ม และชุดผัดเผ็ด ส่วนเศษของอาหารที่เหลือจากผลิตภัณฑ์ ก็นำมาปรุงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำรองลงมา รวมทั้งเศษวัสดุก็นำมาเป็นอาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยชีวภาพ เป็นก๊าซชีวภาพต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผลผลิตที่ได้จากฟาร์ม ส่วนหนึ่งนอกจากจะเป็นผักสดปลอดสารพิษแล้ว ยังเป็นอาหารปรุงสำเร็จ ส่งไปขายยังห้างสรรพสินค้า อาทิ แม็คโคร และโรงแรมชั้นนำหลายแห่ง อีกส่วนหนึ่งนำไปขายในท้องถิ่น เป็นสินค้าโอทอป ร้านของฟาร์มเอง และส่วนหนึ่งจัดใส่รถตู้โมบายออกไปขายตามตลาดต่าง ๆ ตลาดนัดในอำเภอต่าง ๆ
นายอนันตสิทธิ์ กล่าวว่า เกษตรกรจะเข้ามารับการฝึกเป็นรุ่น ๆ ละ 6 เดือน โดยทุกคนจะได้รับพื้นที่เพาะปลูกคนละ 1 งาน ให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายได้ทุกวัน ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้ามารับการฝึกอบรมแล้วถึง 120 รุ่น ฝึกอาชีพและนำความรู้กลับไปใช้กับพื้นที่นาของตนเองและครอบครัวแล้วไม่น้อย กว่าพันคน ส่วนหนึ่งส่งผลิตผลกลับมาจำหน่ายให้กับฟาร์มตัวอย่าง บางส่วนที่ไม่มีที่ทำกิน หรือไม่สะดวกที่จะกลับไปประกอบเกษตรกรรมกับพื้นที่ของตนเอง ก็เป็นลูกจ้างของฟาร์มตัวอย่างต่อไป มีรายได้ทุกวัน
ทุกวันนี้ ฟาร์มตัวอย่างสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบาย และยังสามารถทูลเกล้าฯ ถวายเงินคืน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปแล้ว 15 ล้านบาท จากที่พระองค์พระราชทานเงินทุน เริ่มต้น 7 ล้านบาท ส่วนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เป็นสมาชิกฟาร์มตัวอย่าง และไม่ได้เป็นสมาชิก มีความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก เพราะนอกจากทำงานที่ฟาร์มตัวอย่างแล้ว เกษตรกรที่ว่างเว้นจากการงาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังพระราชทานความรู้ในเรื่องงานศิลปาชีพ ทำให้มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย เพราะทุกคนล้วนน้อมนำแนวทางพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันกันทั่วหน้า
เป็นอีกหนึ่งน้ำพระทัย ที่ทรงมีต่อพสกนิกร ชาวไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร ที่เป็นอาชีพหลักของชาวไทย ให้ได้มีอาชีพที่ยั่งยืน ได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และนำเข้ามาใช้ร่วมกับอาชีพของตนได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองในการเรียนรู้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 กันยายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=94789