เมื่อวันที่ 30 กันยายน 53
จากเดิมทีชาวบ้านส่วนใหญ่ใน อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ยึดอาชีพด้านการเกษตรที่ต้องพึ่งพาสารเคมี ทั้งปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช ส่วนใบไม้มักจะเผาทิ้ง ทำให้เกิดหมอกควัน และส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ปัจจุบันหลังจาก "คำมูล เมืองใจ" หรือ "พ่อหลวงคำมูล" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านดง ต.แม่ทะลบ อ.ไชยปราการ ดำเนินโครงการธนาคารใบไม้แล้ว เพื่อนำใบไม้ไปผลิตปุ๋ยหมัก นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังสามารถลดหมอกควันได้เป็นอย่างดี
คำมูล บอกว่า ยึดอาชีพเกษตรกรปลูกมันฝรั่ง และรวบรวมผลผลิตมันฝรั่งของลูกบ้านโรงงานมากว่า 12 ปี ทั้งตนและลูกบ้านทำเกษตรที่ต้องพึ่งพาสารเคมีมาตลอด ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลผลิตตกต่ำ กระทั่งเดือนมีนาคม 2552 ได้ฟังนโยบายและแนวคิดในการทำโครงการธนาคารใบไม้ของ โชคดี อมรวัฒน์ นายอำเภอไชยปราการ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของบุคคลต้นแบบที่มีผลงานดีเด่นระดับภาค ตามโครงการนายอำเภอของประชาชนระดับภาค ประจำปี 2552 รู้สึกว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก เพราะเป็นการปลุกสร้างจิตสำนึกไม่ให้คนเผาใบไม้ และหาวิธีการนำใบให้เกิดประโยชน์
"โครงการธนาคารใบไม้ ถือเป็นการสอดคล้องกับโครงการปุ๋ยชีวภาพ 44 หมู่บ้านที่เราทำกันอยู่แล้ว และเรากำลังประสบปัญหาวัตถุดิบที่จะมาผสมปุ๋ยชีวภาพขาดแคลน จึงมองว่าใบไม้นี่แหละคือวัตถุดิบชั้นดี ผมจึงเรียกประชุมคณะกรรมการชุมชนอย่างเร่งด่วน เราตกลงกันว่าจะจัดตั้งธนาคารใบไม้ในชุมชนขึ้นมาที่หมู่ 5 บ้านดง ต.แม่ทะลบ เราถือฤกษ์วันที่ 12 เมษายน 2552 เป็นวันแรกที่เรารับซื้อใบไม้จากคนในชุมชน โดยนำเงินจากโครงการเอสเอ็มอีที่เหลือราว 3 หมื่นบาท มาเป็นทุนรับซื้อใบไม้ เพื่อนำเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยในราคากระสอบละประมาณ 7 กก.ในราคา 5 บาท" คำมูล กล่าว
พ่อหลวงคำมูล บอกอีกว่า ปกติชาวบ้านทิ้งใบไม้หรือไม่ก็เผากัน หลังจากตั้งธนาคารใบไม้ในหมู่บ้านแล้ว ทำให้ชาวบ้านรวมมือเป็นอย่างดี ทุกวันนี้จึงมีการผลิตปุ๋ยหมักที่ใช้ใบไม้เป็นส่วนผสมด้วยวิธีการทำปุ๋ยหมัก คือ นำใบไม้ไปบ่มกับมูลโค-กระบือ ในอัตราส่วนผสมมูลโค-กระบือ 300 กก. และใช้สารเร่งพด.1 ประมาณ 1,000 กก. ใบไม้ 1,000 กก. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 5 กก. หมักไว้ 3 เดือน แล้วนำเข้าเครื่องสับบด จากนั้นให้หมอดินอาสาตรวจสอบดูว่าธาตุอาหารในปุ๋ยที่ผลิตออกมาได้ครบถ้วนหรือไม่
ต้นทุนการผลิตปุ๋ยหมักจากใบไม้รวมค่าแรงด้วย ตกราคา กก.ละ 3 บาท นำไปจำหน่ายให้เกษตรกรในราคา กก.ละ 6 บาท ทำให้ชุมชนเรามีเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในกลุ่ม และนำกำไรไปใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านโดยไม่ต้องรบกวนชาวบ้านเหมือนสมัยก่อน นอกจากนี้ ทุกวันนี้มีชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เสริมจากการจัดหาใบไม้เป็นวัตถุดิบมาให้โรงปุ๋ย และสามารถซื้อปุ๋ยในราคาถูกด้วย และที่สำคัญ ใบไม้ที่ไร้ค่ากลายมาเป็นของมีค่าที่พี่น้องชาวบ้านดงต่างหวงแหน ส่งผลให้ตอนนี้กว่าร้อยละ 90 ชาวบ้านไม่มีการเผาขยะอีกแล้ว
"บางคนไม่เข้าใจ จึงมีคำถามว่า ทำไมการเผาใบไม้ไปเกี่ยวอะไรกับโลกร้อน ก็อธิบายว่า การเผาใบไม้ 1 กอง จะเกิดควัน และในควันไฟจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปอยู่บนชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก กั้นไม่ให้ความร้อนขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศได้ ก็จะทำให้ความร้อนกลับมาสู่โลกที่เราอยู่ร้อนขึ้น และจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เกิดโรคระบาด ชาวบ้านจึงเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี" คำมูลกล่าว
โครงการธนาคารขยะ นอกจากที่สร้างรายได้ นำไปพัฒนาหมู่บ้านแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดใน อ.ไชยปราการปัจจุบัน ปัญหาหมอกควันลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นนั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 30 กันยายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20100930/74795/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%