เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 53
นักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ตามดินทั่วไป ทำให้เกิด ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับพืชอาศัย และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหาร ในดินให้กับพืชเศรษฐกิจ เช่น มะละกอ อ้อย พริก และ ถั่วลิสง
ทั้งนี้ยังค้นพบว่า แบคทีเรียละลายฟอสเฟต (phosphate-solubilizing bacteria, PSB) ก็พบได้ทั่วไปในดินเช่นเดียวกัน แต่มีคุณสมบัติ ในการผลิตกรดอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายฟอสเฟต ที่ถูกตรึงอยู่ในดินในรูปที่ไม่ละลายน้ำ ทำให้ฟอสฟอรัสละลายออกมาสู่ดิน จากนั้นเชื้อราไมคอร์ไรซาจึงดูดซับฟอสฟอรัสให้กับพืชได้มากขึ้น จึงทำให้เจริญเติบโตและผลผลิตดี
ในการศึกษาวิจัยโดยทดลองนำเชื้อจุลินทรีย์ 2 กลุ่มนี้ ไปใช้ ปลูกถั่วลิสงในสภาพแปลงปลูกเสร็จสมบูรณ์แล้ว พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดย ผศ.ดร.โสภณ บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มข. เผยว่า โดยปกติการทดลองในพืชชนิดใดนั้น ก็จะไปเก็บดินที่อยู่บริเวณรอบๆรากของพืชนั้นมา จากนั้นก็จะนำมาแยกสปอร์ของเชื้ออาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา ด้วยวิธีการร่อนแบบเปียกผ่านน้ำในตะแกรงถึง 4 ชั้น รูของตะแกรงมีขนาดเล็กแตกต่างกันในระดับไมโครเมตร นำสปอร์ที่ได้มาตรวจสอบคุณลักษณะโดยส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ แบบสเตอริโอไมรโคร สโคป พร้อมทั้ง คัดเลือกสปอร์ และนำมาเพิ่มปริมาณโดยใช้พืชอาศัย เช่น ข้าวโพดที่มีระบบรากจำนวนมาก มีวงชีวิตสั้น ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก็สามารถเพิ่มปริมาณสปอร์ของเชื้อได้ดี
สำหรับ แบคทีเรียละลายฟอสเฟต นำมาแยกโดยใช้อาหารจำเพาะที่ผสมไตรแคลเซียมฟอสเฟต ก่อนจะเพาะเลี้ยงในอาหารเหลว และผสมกับพาหะซึ่งใช้ผงซีโอไลท์ทำให้แห้ง แล้วนำไปใช้ทดลองต่อไป เมื่อได้เชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่ม ในปริมาณที่เพียง พอแล้ว ก็จะนำไปทดสอบกับพืชเป้าหมาย
ในขั้นแรกจะนำไปทดสอบในระดับกระถางก่อน โดยใช้ถั่วลิสงที่มีสายพันธุ์แตกต่างกันมาทดสอบกับเชื้ออาบัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา ร่วมกับแบคทีเรียละลายฟอสเฟตในแต่ละชนิด ซึ่งพบว่าเชื้ออาบัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาชนิด "โกมัส คาร์ลัม" เป็นเชื้อที่ดีที่สุด สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของถั่วลิสงได้ดีที่สุด ส่วนพันธุ์ ของถั่ว คือ พันธุ์ไทยนาน 9 ซึ่งต่อมาก็นำพันธุ์ถั่วส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกทดลองในแปลง
โดยมีการคัดสายพันธุ์ถั่วรวมถึงการทดลองในแปลงจาก รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาค วิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มข. สำหรับแนวทางในการพัฒนาต่อยอดนั้น ต้องการให้ออกมาในรูปแบบของ ปุ๋ยชีวภาพที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งยัง ต้องพัฒนาการเก็บรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้ จุลินทรีย์ที่ใส่เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา ชนิด โกมัส คาร์ลัม และ แบคทีเรียละลายฟอสเฟต อยู่ในปุ๋ยมีความพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สนใจงานวิจัยชิ้นนี้ สอบถามเพิ่มเติมที่ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 0-4320-2377 หรือคลิก www.kku.ac.th/research
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 4 ตุลาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/115976