เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 53
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรว่า ผลกระทบส่วนใหญ่ขณะนี้มาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีการเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะลต่ำกว่าปกติ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ช่วงเดือน สิงหาคม-ตุลาคมนี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ ส่วนพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกมากกว่าปกติไปจนถึงปลายปี
นายอภิชาต กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดทำแผนบรรเทาภาวะโลกร้อนทางการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2550 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการขับเคลื่อนตามแผนงานที่ตั้งไว้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดให้เกิดการปฏิบัติตามแผนให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภัยธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่สามารถเตรียมการรับมือได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือแล้งซ้ำซาก ควรปรับเปลี่ยนระบบการผลิต เปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศมากขึ้น เช่น อาจจะเลื่อนการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นหรือเลื่อนออกไปจากช่วงเวลาที่เสี่ยง และควรติดตามการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนในเรื่องข้อมูลเตือนภัยนั้น กระทรวงเกษตรฯตระหนักดีว่าเป็นสิ่งสำคัญจึงต้องมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ มีความถูกต้อง แม่นยำและน่าเชื่อถือมากที่สุด
นอกจากนี้ จากผลการวิจัยพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1-2 องศา จะทำให้ผลผลิตข้าวลดลงได้ถึง 20% ยังไม่รวมความเสียหายจากเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้งและโรคแมลงศัตรูพืชระบาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ต้านทานโรคและแมลง หรือพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมขัง เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 4 ตุลาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=230593