เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 53
ต่อยอดจากน้ำมันรำข้าวเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผลผลิตจากข้าวไทยมีมูลค่าสูงขึ้น ปีนี้ บริษัทน้ำมันบริโภคไทย จำกัด วิจัยและพัฒนาการผลิตเพิ่มขึ้นจนสามารถผลิตเนยขาวจากน้ำมันรำข้าวได้ สำเร็จ ถือเป็นรายแรกของโลกที่นำน้ำมันรำข้าวมาผลิตเป็นเนยขาวหรือที่เรียกกันว่า “Shortening” วัตถุดิบสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการผลิตสินค้าเบเกอร์รี่ทั่วโลก และนวัตกรรมดังกล่าวได้คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมข้าวไทยประจำปีนี้ จากการประกวดผลงานนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ข้าวไทย ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวของประเทศไทย
นายประวิทย์ สันติวัฒนา ผู้บริหารบริษัทน้ำมันบริโภคไทย จำกัด บอกถึงที่มาของนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า หลังจากได้ผลิตน้ำมันรำข้าวเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้านเศรษฐกิจปี 2549 บริษัทได้ลงทุนเพิ่มกว่า 20 ล้านบาทเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่การผลิตน้ำมันรำข้าวคุณภาพสูงเกรดที่ใช้ทำน้ำสลัด ซึ่งในกระบวนการผลิตดังกล่าว บริษัทพบว่าสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นก่อนได้น้ำมันรำข้าวคุณภาพสูงมาผลิตเป็นเนยขาวเพื่อสุขภาพได้โดยไม่ต้องสูญเสียวัตถุดิบไปโดยเปล่าประโยชน์
ทั้งนี้การผลิตเนยขาวใช้กระบวนการผลิตทางกายภาพ โดยการนำน้ำมันรำข้าวมาผ่านความร้อนและตกผลึกภายใต้อุณหภูมิต่ำแล้ว ผ่านกระบวนการกรองและบีบอัดไข จากนั้นนำไขที่ได้มาให้ความร้อนและตกผลึกซ้ำ จะได้เนยขาวน้ำมันรำข้าวที่ปราศจากไขมันทรานส์ และกรดไขมันอิ่มตัวต่ำกว่าร้อยละ 40 รวมทั้งมีสารสำคัญ คือ โอรีซานอล และไฟโตสเตอรอล
คุณประวิทย์ บอกว่า เนยขาวที่ได้สร้างมูลค่าให้กับข้าวไทยมากกว่า 3 เท่าของน้ำมันรำข้าวเกรดปกติ เนื่องจากมีราคาขายปลีก 150 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 90 บาท/กิโลกรัมปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองตลาดคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ในปีหน้า
สำหรับรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยปีนี้ ยังมีอีก 4 นวัตกรรมที่ได้รับรางวัล และน่าสนใจไม่น้อย โดยรางวัลที่ 2 มี 2 ผลงานคือ น้ำสลัดไร้ไขมัน จากบริษัทมาลีบางกอก ที่นำแป้งข้าวบริสุทธิ์จากปลายข้าวขาวมะลิ 105 มาดัดแปลงทางกายภาพด้วยความร้อนจนเป็นสารข้นหนืด ใช้ทดแทนไขมันจากไข่ในการทำน้ำสลัดเพื่อสุขภาพ และ เครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าว จากบริษัทเจียเม้งอีสาน จำกัด ที่นำข้าวเปลือกที่ผ่านการงอกมากระเทาะเปลือกออกแล้วนำมาผ่านกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลกลูโคสด้วยการใช้เอนไซม์ และพัฒนาสูตรให้เหมาะสม
ส่วนรางวัลที่ 3 มี 2 รางวัลเช่นกัน คือ เคยู โอวาการ์ด สารเคลือบไข่สดจากสตาร์ซข้าวเจ้า ของผศ.ดร.ภานุวัฒน์ สรรพกุล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำแป้งข้าวเจ้ามาแปรรูปเป็นสารละลายคล้ายเจลใช้ในการเคลือบเพื่อรักษา คุณภาพของไข่ไก่สดระหว่างการเก็บในอุณหภูมิห้องคงความสดอยู่ได้ 28 วัน และอาหารว่างจากข้าวเจ้า ของ ผศ.วาสนา โพธิ์แก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ประยุกต์ภูมิปัญญาล้านนาในการทำข้าวควบจากการใช้แป้งข้าวเหนียวแทนการใช้เมล็ดข้าวโดยตรง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ขึ้นรูปได้ตามต้องการและไม่มีน้ำมัน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า นวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2553 นี้ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 34 ผลงาน ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนผลงานไม่มากนัก แต่จะเห็นได้ว่าผลงานในปีนี้ล้วนเป็นผลงานมีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์สูงมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ที่ผ่านมาประเทศไทยแม้จะเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของโลก แต่มูลค่าการส่งออกข้าวยังแพ้ประเทศเวียดนามซึ่งมีราคาต่ำกว่า การส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมข้าวไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าและมีอำนาจต่อรองราคาในตลาดโลก ถือเป็นสิ่งสำคัญ
ข่าวดี สำหรับเจ้าของภูมิปัญญาไทย ประกวดนวัตกรรมข้าวไทยปีหน้า ประธานกรรมการ มูลนิธิข้าวไทยฯ บอกว่า จะเปิดเวทีสำหรับชาวบ้านโดยเฉพาะเพื่อไม่ต้องกังวลเรื่องข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีจากผู้ประกวดที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เรียกได้ว่า ช่วยพัฒนาข้าวไทยกันได้ทุกคน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 ตุลาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=319&contentID=96033