เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 53
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ไทยมีพันธกรณีต้องลดภาษีและยกเลิกมาตรการโควต้าภาษีสินค้ากาแฟภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) โดยกาแฟสำเร็จรูปต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0 เมล็ดกาแฟเหลือร้อยละ 5
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของไทย ซึ่งมีกว่า 3 หมื่นครัวเรือนได้รับผลกระทบ รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเร่งปรับปรุงยุทธศาสตร์กาแฟปี 2552-2556 ประกอบด้วย ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการสร้างเสถียรภาพราคา
ทั้งนี้การที่มีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) พบว่า โอกาสที่สินค้ากาแฟจากประเทศเวียดนามจะเข้ามาตีตลาดไทยมีความเป็นไปได้สูง มาก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเวียดนามเป็นผู้ค้ารายใหญ่ติด 1 ใน 3 ของโลก รองจากบราซิล และโคลัมเบีย ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าไทยมาก แต่ไทยยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ และมาตรฐานที่แตกต่างจากเมล็ดกาแฟของประเทศเพื่อนบ้าน ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นเกษตรกรไทยจึงควรรักษาข้อได้เปรียบส่วนนี้ไว้และตระหนักอยู่เสมอว่า คู่แข่งที่สำคัญก็มีการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดกาแฟด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ควรมีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายโอกาสการส่งออกและแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์กาแฟของภาครัฐจะมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูก โดยเฉพาะกาแฟโรบัสต้า ซึ่งภายในปี 2556 คาดว่าจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่กาแฟที่ปลูกเป็นพืชเดี่ยวจาก 200 กก./ไร่ เป็น 300 กก./ไร่ และปลูกร่วมกับพืชอื่นจาก 143 กก./ไร่ เป็น 180 กก./ไร่ ทั้งยังมุ่งเพิ่มจำนวนแปลงกาแฟที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีพีเอ ไม่น้อยกว่า 50% จากพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ จำนวน 403,449 ไร่ ซึ่งเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้นต้นทุนการผลิตต่ำลงทำให้โอกาสในการแข่งขันกับกาแฟต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 5 ตุลาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=230765