เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 53
ด้วย "ขมิ้นชัน" มีประโยชน์หลากหลาย เป็นทั้งเครื่องเทศสมุนไพร พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ ปัจจุบันตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ปลูก 5,000-6,000 ไร่ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ผลผลิต 1-1.2 หมื่นตัน โดยหัวสดซื้อขายกันที่ กก.10-50 บาท หัวแห้ง (ทั้งหัว) กก.30-150 บาท หัวหั่นเป็นแว่นแห้ง กก.60-150 บาท และผงขมิ้นชันแห้ง กก.80-150 บาท
ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง โดยการสนับสนุนของ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิษณุศิลป์ เพชรรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ได้มอบหมายให้ ดร.นาตยา แดงอำไพ หัวหน้าคณะศึกษาวิจัย พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ขมิ้นชัน เริ่มปี 2541 เพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมในการบริโภค ให้ผลผลิตสูง รวมทั้งมีสารเคอร์คูมินอยด์ ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดคือ 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งมุ่งให้มีน้ำมันหอมระเหยไม่ต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อการค้าป้อนตลาด ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
"การปรับปรุงพันธุ์ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ได้พิจารณาให้เป็นชื่อพันธุ์ว่า "ขมิ้นชัน ตรัง 2" ที่มีเนื้อสีส้มแกมแดง ความสูงต้น 0.8-1.1 เมตร หลังปลูกแล้ว 9 เดือน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ให้ผลผลิตหัวสดประมาณไร่ละ 2.59 ตัน มีสารเคอร์คูมินอยด์ เฉลี่ย 11.04 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพรไทย 120.80 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำมันหอมระเหย เฉลี่ย 7.78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพรไทย 29.67 เปอร์เซ็นต์" ดร.นาตยา แจง
พร้อมระบุว่า "ขมิ้นชัน" ชนิดนี้ปลูกได้ในเขตภาคใต้ และปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีดินร่วนปนทราย ที่อุณหภูมิ เฉลี่ย 27-33 องศาเซลเซียส และเกษตรกรไม่ควรใช้ส่วนขยายพันธุ์ (หัวและแง่ง) ที่มาจากแหล่งที่เป็นโรคเหี่ยว โรคโคนเน่าใช้เพาะปลูก เพราะจะทำให้ติดโรคโคนเน่า หรือโรคเหี่ยวได้ง่าย
"ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ได้เร่งเพาะขยายพันธุ์ "ขมิ้นชัน ตรัง 2" เพื่อเพิ่มปริมาณ ขณะเดียวกันยังได้ส่งหัวและแง่งให้สถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เพื่อขยายพันธุ์โดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการเกษตรกรที่จะนำขมิ้นชันพันธุ์นี้ไปปลูกเชิงการค้าใน อนาคต" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจง
ดร.นาตยา กล่าวเสริมว่า ขมิ้นชันไม่ได้แตกต่างไปจากขมิ้นธรรมดามากนัก แต่ดีกว่าตรงที่มีสารสำคัญมากกว่า และมีหัวใหญ่กว่า ทำให้ได้น้ำหนัก โดยตลาดนั้นนอกจากตลาดทางภาคใต้ที่นิยมนำไปทำเครื่องแกงแล้ว ก็จะมีพ่อค้าจากภาคกลางมารับซื้อผลผลิตกันถึงที่เลยทีเดียว
"ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.ตรัง และภาคใต้ สนใจปลูกขมิ้นชัน ตรัง 2 เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับภาวะด้านการตลาด เมื่อปี 2552 พบว่า เฉพาะเกษตรกรใน จ.ตรัง ขายผลผลิตได้ราคา กก.ละ 30-50 บาท ยิ่งหากมีการดูแลดีและไม่มีโรค ก็จะทำให้มีรายได้สูงถึงประมาณไร่ละ 2 แสนบาท" ดร.นาตยา กล่าว
หากเกษตรกรท่านใดสนใจ ต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับ "ขมิ้นชัน ตรัง 2" สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง โทรศัพท์ 0-7521-1133 หรือ 0-7520-3248 ทุกวัน ในเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 5 ตุลาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101005/75255/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%